×

แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยที่ 1.5% ส่งสัญญาณผ่อนปรนลดลง ค่าเงินแนวโน้มผันผวน กังวลประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป

14.11.2018
  • LOADING...

“การดำเนินนโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง”

 

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ซึ่งทาง กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

 

สำหรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับ 3 เสียงของ กนง. ที่เสนอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% นั้น เห็นว่าสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ภาคธุรกิจอาจประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะทำให้มี ขีดความสามารถในเชิงนโยบาย (Policy Space) ในการจัดการมากขึ้น

 

สำหรับภาคส่งออกชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่วนการท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตตามการจ้างแรงงานนอกภาคการเกษตรที่ดีขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่ยังมีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่ และการลงทุนเมกะโปรเจกต์ที่ล่าช้าของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

 

กนง. เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจทั้งการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ การแข่งขันด้านราคา บทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลต่อต้นทุนธุรกิจ ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต สภาพคล่องของระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นสินเชื่อจึงขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการบริโภค อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวน จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ในภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำนานๆ แบบนี้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X