×

ธปท. เกาะติด ‘โอไมครอน’ ชี้หากรุนแรงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้า มองหลายประเทศตื่นตัวเป็นสัญญาณบวกเชิงป้องกัน

30.11.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างติดตามดูข้อมูลการแพร่ระบาดรวมถึงความรุนแรงของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ เพื่อนำมาประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะมีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ

 

“ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง แต่ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าโอไมครอนจะรุนแรงแค่ไหนเมื่อเทียบกับเดลตา แต่หากเทียบกันในแง่ความตื่นตัว จะเห็นว่าครั้งนี้หลายประเทศตื่นตัวมากกว่าอย่างชัดเจน ทั้งการคิดค้นวัคซีนและยารักษา นับเป็นสัญญาณที่ดี โดยเราคาดว่าจะประเมินเรื่องนี้ในการประชุม กนง. ในเดือนธันวาคม และน่าจะมีความชัดเจนออกมาเรื่อยๆ หลังจากนั้น” ชญาวดีกล่าว

 

ชญาวดีกล่าวอีกว่า ณ ปัจจุบัน ธปท. ยังประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ได้ที่ 0.7% เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผลกระทบจากโอไมครอนถ้าจะมีก็น่าจะเริ่มเห็นได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป พร้อมระบุด้วยว่า ธปท. จะยังมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางการเงินที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

 

“มาตรการทางการเงินของเราถูกออกแบบมาเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และภาคธุรกิจภายใต้สมมติฐานว่าโควิดจะอยู่กับเราต่อไปอีกระยะหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น การช่วยเหลือลูกหนี้และภาคธุรกิจให้ปรับตัวได้ในระยะยาว เช่น การเสริมสภาพคล่อง มาตรการรวมหนี้ จะเป็นสิ่งที่เราทำต่อไป” ชญาวดีกล่าว

 

ทั้งนี้ ธปท. ยังมีการแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนตุลาคม 2564 โดยระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้า รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ 

 

ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าก็เพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับลดลงหลังจากที่เร่งขึ้นในเดือนก่อน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์

 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหาซัพพลายดิสรัปชันที่ทยอยคลี่คลาย ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ปรับดีขึ้น 

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X