สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า แบบจำลองเศรษฐกิจที่จัดทำโดย ธปท. พบว่าหากรัฐบาลมีการกู้ยืมเงินเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านบาทโดยเร็วจะทำให้ GDP ไทยสามารถเติบโตเฉลี่ยได้ที่ระดับ 3.2% ต่อปี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และแม้ว่าการกู้เงินดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ขึ้นไปแตะระดับ 70% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า แต่หลังจากนั้นระดับหนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อภาคธุรกิจมีการฟื้นตัวและรัฐจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้น
“กรณีที่ไม่กู้เพิ่ม GDP จะเติบโตได้ต่ำกว่า 3% การฟื้นตัวจากหลุมรายได้ของครัวเรือนที่หายไปในช่วงโควิดซึ่ง ธปท. ประเมินว่าอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงานหรือเสมือนว่างงานจะต้องใช้เวลายาวนาน ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยสูงกว่าการไม่กู้เงินเพิ่มได้เพราะตัวหารจะลดลง” สักกะภพกล่าว
สักกะภพกล่าวอีกว่า หากภาครัฐนำเงินที่กู้เพิ่มเติมไปใช้กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการที่มีตัวคูณทางเศรษฐกิจสูง ได้แก่ การค้ำประกันสินเชื่อ โครงการกระตุ้นการบริโภค อาทิ คนละครึ่ง จะทำให้เกิดความคุ้มค่าของเงินกู้ การฟื้นตัวของภาคธุรกิจจะกลับมาได้เร็วขึ้นเมื่อภาคเศรษฐกิจฟื้น การจัดเก็บภาษีจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยประเมินว่าการจัดเก็บภาษีอาจกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ภายใน 5 ปี