×

ธปท. ปรับเกณฑ์ดูแลเงินกองทุนใน Pillar 2 เพิ่มความยืดหยุ่นให้ครอบคลุมความเสี่ยงทางเทคโนโลยี ยันไม่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด

17.08.2021
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนในส่วนของ Pillar 2 ที่ได้ออกและบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อให้ยืดหยุ่นและครอบคลุมความเสี่ยงใหม่ๆ มากขึ้น โดยการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากลที่นำมาใช้ในประเทศต่างๆ และได้เริ่มดำเนินการมานานแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด ดังนั้นการปรับเกณฑ์จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจากสถานการณ์โควิด

 

“การปรับปรุงเกณฑ์ Pillar 2 ครั้งนี้เป็นการทบทวนเกณฑ์กำกับดูแลตามปกติให้มีความทันสมัย เพื่อให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงใหม่ๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Sustainable Finance เพื่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในระยะยาว และให้สามารถสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้มีผลมาจากสถานการณ์โควิด และการปรับเกณฑ์ก็ไม่ได้มีผลให้การขอสินเชื่อยากขึ้น หรือทำให้คนได้รับดอกเบี้ยเงินฝากลดลงแต่อย่างใด ไม่เกี่ยวข้องกัน” จาตุรงค์ กล่าว

 

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนโดยทางการ (Pillar 2) ที่ปรับปรุงเพิ่มเติมในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

 

ส่วนการปรับปรุงเกณฑ์ครั้งนี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น จาตุรงค์ กล่าวว่า การปรับเกณฑ์อาจไม่ได้ทำให้สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเสมอไป การจะทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มหรือลดเงินกองทุนไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ครั้งนี้ แต่หัวใจของ Pillar 2 คือสถาบันการเงิน แต่ละแห่งต้องประเมินความเสี่ยงและระดับความเสี่ยงของตนให้ครบถ้วน และบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยความเสี่ยงหลังการบริหารจัดการควรมีเงินกองทุนรองรับให้เพียงพอ ทั้งในส่วนของ Pillar 1 และ Pillar 2 

 

ดังนั้นจึงไม่อาจบอกได้ว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะต้องเพิ่มเงินกองทุนในส่วนของ Pillar 2 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยงของแต่ละแห่ง ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะต้องประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนตาม Pillar 2 เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว รวมถึงการประเมินความเสี่ยงในภาวะวิกฤต (Stress Test) ที่ ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งผลการทดสอบยังสะท้อนว่าสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่รวดเร็ว สถาบันการเงินอาจเผชิญความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านกฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ อีกทั้งต้องเพิ่มความสำคัญด้านปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้มากขึ้นในระยะต่อไป เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจในภาคการเงินเป็นไปอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance) มีวัฒนธรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เข้มแข็ง สามารถเป็นกลไกสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ธปท. จึงปรับหลักเกณฑ์ Pillar 2 ซึ่งปัจจุบัน ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำ (บีไอเอส) และให้ดํารงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤตเพิ่มอยู่ที่ 11-12% แต่ธนาคารส่วนใหญ่ในระบบมีบีไอเอสเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์อยู่ที่ราว 20% 

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังสามารถกำกับดูแลการปฏิบัติตามเกณฑ์ Pillar 2 ของสถาบันการเงินได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับขนาดความเสี่ยงและความซับซ้อนของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง (Proportionality) สถาบันการเงินเองก็มีเฟรมเวิร์กด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ในการกำหนดนโยบายการดำเนินงาน ส่วนการกำหนดมาตรฐาน ESG ยังอยู่ระหว่างการประเมินและดำเนินการ

 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้ดำรงเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด และด้านปฏิบัติการไว้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตาม Pillar 1 ซึ่งช่วยเป็นกันชน (Buffer) ในการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงต่างๆ ได้ดี ดังนั้นแม้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่สถาบันการเงินยังมีความมั่นคง ซึ่งหลักการสำคัญของประกาศ Pillar 2 คือการให้สถาบันการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงที่นอกเหนือจาก Pillar 1 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมั่นใจว่าจะมีเงินกองทุนรองรับความเสี่ยงจากการทำธุรกิจได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X