เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อของกลุ่มธนาคารเดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า ยังขยายตัว 0.7%MoM, 5.2%YoY ซึ่งหลักๆ มาจากการขยายตัวของสินเชื่อจากภาครัฐและสินเชื่อภาคธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่เปลี่ยนมาระดมทุนด้วยการขอสินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนมาก
ขณะที่ยอดเงินฝากเดือนพฤษภาคม 2563 ยังเติบโต 0.2%MoM และ 10.5%YoY เนื่องจากมีการโยกย้ายเงินมาพักไว้ในแหล่งที่ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอน
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 จนถึงปัจจุบัน (24 มิถุนายน) ราคาหุ้นกลุ่ม BANK ปรับตัวขึ้น 8.7%QTD ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้น 20.6%QTD ซึ่งในช่วงเวลานี้ตลาดหุ้นยังได้ปัจจัยหนุนจากความคาดหวังต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 2563 หลังจากรัฐบาลมีแผนผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์
มุมมองระยะสั้น:
แม้ยอดสินเชื่อของกลุ่มธนาคารเดือนพฤษภาคมจะขยายตัวดีขึ้น แต่ไม่สามารถลดแรงกดดันจาก 2 ปัจจัยหลักดังนี้ 1. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง 40 bps ในเดือนเมษายน และลดลงอีก 12.5-35 bps ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา และ 2. การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 โดย 2 ปัจจัยกดดันที่กล่าวมานี้ทำให้ SCBS คาดว่าภาพรวมกำไรไตรมาส 2/63 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 35%YoY และลดลง 22%QoQ
ทั้งนี้ต้องติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม
มุมมองระยะยาว:
ในระยะถัดไป หุ้นกลุ่มธนาคารยังเผชิญกับปัจจัยกดดันจาก NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบของลูกหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะยังคงกดดันต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในอนาคตได้
อย่างไรก็ดี ด้านฐานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารยังคงแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) ที่ระดับ 18.4% ซึ่งสูงกว่าความต้องการขั้นต่ำที่ 7% รวมถึงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงให้กลุ่มธนาคารงดการซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับรอบผลประกอบการปี 2563 ซึ่งจะทำให้กลุ่มธนาคารมีเงินกองทุนสูงขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า