×

อ่านงบแบงก์ไตรมาส 1/2563 หลังเจอวิกฤตโควิด-19 และผลพวงคลื่น Digital Disrupt เมื่อคนไม่เข้าสาขา

26.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ธุรกิจธนาคารแย่กว่าทุกปี เพราะเจอทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง กำไรลด-หนี้เสียพุ่งขึ้น 
  • ทางออกธุรกิจธนาคารต้องประคองประชาชนผ่านการออกมาตรการช่วยเหลือ หวังคุมหนี้เสียให้อยู่มือ 

2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคารไทยต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพราะเจอ Digital Disruption ไหนจะการใช้มาตรฐานทางบัญชีใหม่ TFRS9 แม้จะเริ่มปรับตัวได้บ้าง แต่ปีนี้กลับมาเจอวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติม ล่าสุดผลการดำเนินงานของ 10 ธนาคารพาณิชย์ออกมาครบแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าแย่กว่าปีที่ผ่านมา 

 

ไตรมาส 1/2563 สถานการณ์ธนาคารไทยเป็นอย่างไร

 

กำไรธุรกิจแบงก์ทรุด โตหดตัว 18.4% สิ้นฤทธิ์กำไรพิเศษ-รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัว

ในช่วงเวลาปกติ ธุรกิจธนาคารจะคาดหวังว่าจะเติบโตอย่างน้อยสองเท่าของ GDP แต่ช่วงเศรษฐกิจขาลงจนจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยไตรมาส 1/2563 ที่ผ่านมา กำไรสุทธิของ 10 ธนาคารอยู่ที่ 44,177.5 ล้านบาท ลดลง 18.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 

 

ในแง่จำนวนเงิน ธนาคารที่มีกำไรสุทธิสูงสุดคือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อยู่ที่ 9,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.0% จากไตรมาส 1/2562 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจาก รายได้ค่าธรรมเนียม Recuring และเพิ่มขึ้นจากรายได้การเป็นนายหน้าขายประกันของกลุ่มเอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต (ที่ก่อนหน้านี้ SCB ขาย บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ให้ไป)

 

ในกลุ่มแบงก์ใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กำไรสุทธิลดลงมากที่สุดถึง 34.5% สาเหตุเพราะรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ) ลดลง 39.78% ส่วนใหญ่มาจากรายได้อื่นๆ ลดลงถึง 121.9% เกิดขึ้นจากความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากเศรษฐกิจถดถอยเพราะโควิด-19 รวมถึงการจัดประเภทและวัดมูลค่าของเงินลงทุนใหม่ตาม TFRS9 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 5.92% เช่นกัน

 

ส่วนธนาคาร LHFG ไตรมาส 1/2563 ขาดทุนสุทธิ 708.5 ล้านบาท ลดลง 187.8% จากไตรมาส 1/2562 สาเหตุเพราะการปรับใช้ TFRS9 ทำให้มูลค่าเงินลงทุนลดลง 

 

 

ในภาพรวมธุรกิจธนาคารจะมีรายได้หลักแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่

 

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 10 ธนาคารในไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 144,300.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากไตรมาส 1/2562 ส่วนหนึ่งที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หลายธนาคารระบุว่า มาจากการเปลี่ยนมาตรฐานทางบัญชี TFRS9 ขณะที่ธนาคารกรุงไทยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 5.9% จากไตรมาส 1/2562 เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 4 ครั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง

 

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 10 ธนาคาร ในไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 42,965.5 ล้านบาท ลดลง 27.9% จากไตรมาส 1/2562 หลายธนาคาร (เช่น กรุงไทย, กรุงเทพ ฯลฯ) ระบุว่าเป็นการขาดทุนตาม TFRS9 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิหลายธนาคารลดลงด้วย 

 

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานธนาคารส่วนใหญ่ลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อน เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่ ซึ่งรับรู้ในปี 2562 โดยธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี ที่ควบรวมธนาคารธนชาตเข้าไป เมื่อกำไรสุทธิและอื่นๆ เพิ่มขึ้น ก็มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ในไตรมาส 1/2563 รวม 8,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.8% จากไตรมาส 1/2562 สาเหตุเพราะการรับรู้ค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของธนชาต

 

 

เมื่อแบงก์ไทยกำไรทรุด แต่หนี้เสียเป็นขาขึ้น

โควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นชัดเจนขึ้น เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้เสีย ไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยรวม 10 ธนาคารอยู่ที่ราว 496,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 15.6% จากไตรมาส 1/2562 ทำให้อัตราหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) มีค่าเฉลี่ยที่ 3.3% เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยไตรมาส 1/2562 ที่อยู่ราว 2.6%

 

โดย 5 อันดับธนาคารที่มีมูลค่าหนี้เสียสูงสุดในไตรมาส 1/2563 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 ได้แก่

 

  1. ธนาคารกรุงไทย มีมูลค่า NPL รวม 112,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% 
  2. ธนาคารกสิกรไทย มีมูลค่า NPL รวม 91,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.5% 
  3. ธนาคารกรุงเทพ มีมูลค่า NPL รวม 85,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9%
  4. ธนาคารไทยพาณิชย์ มีมูลค่า NPL รวม 83,613 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1%
  5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีมูลค่า NPL รวม 47,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4%

 

ทั้งนี้หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงชัดเจน และเมื่อเศรษฐกิจยังเจอผลกระทบจากโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น กล่าวคือเมื่อรายได้ของภาคประชาชน ผู้ประกอบการหดหายไป จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และสินเชื่อรายย่อย จึงต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทุกส่วน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออก 6 มาตรการ หากไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ ก็มีโอกาสที่หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่านี้

 

 

สุดท้ายนี้ธุรกิจธนาคารหลายคนยังให้ความสำคัญกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM เพราะเป็นส่วนที่บอกว่าธนาคารปล่อยสินเชื่อแล้วจะมีรายได้มากน้อยเท่าไร โดยธนาคารที่มี NIM สูงสุด ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน รองลงมาคือ ธนาคารทิสโก้ ซึ่งทั้งสองธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อลีสซิ่งเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ NIM แตกต่างจากธนาคารอื่นๆ

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising