×

‘บัวหลวง’ แนะจัดพอร์ตลงทุนปีหน้า ลุยหุ้นไทย-ต่างประเทศ 65% ดักอานิสงส์ ศก. ทั่วโลกฟื้น ดึงเงินเข้าสินทรัพย์เสี่ยง

22.12.2021
  • LOADING...
บัวหลวง

บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงประเมินหุ้นไทยปี 2565 มีโอกาสแตะ 1,800 จุด หนุนด้วยปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัว และกำไร บจ. ขยายตัวต่อ ย้ำระหว่างทางดัชนีอาจผันผวน หลังต้องเผชิญแรงกดดัน Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า พร้อมแนะวิธีรับมือด้วยกลยุทธ์สร้างสมดุลของพอร์ตผ่านกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ  

 

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2565 มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีหน้ามีโอกาสปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 1,800 จุด ส่วนแนวรับและแนวต้านระยะสั้นอาจอยู่ 1,580 จุด และ 1,650 จุด ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรคาดการณ์ ปี 2565 (P/E) และกำไรต่อหุ้น (EPS) อาจอยู่ 18 เท่า และ 98 บาทต่อหุ้น ตามลำดับ  

 

ทั้งนี้ มุมมองของ บล.บัวหลวงนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ 96 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดและประกาศล็อกดาวน์ที่อยู่ประมาณ 86 บาทต่อหุ้นในปี 2562 เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะขยายตัว 4.1% และกำไร บจ. ในตลาดหุ้นไทยโตต่อเนื่องจากปี 2564 หลังคนได้รับวัคซีนป้องกันโควิดต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวกลับมา แม้จะมีสายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอน ปัจจัยดังกล่าวจะหนุนให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามา    

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางดัชนีอาจมีความผันผวน เพราะยังต้องเผชิญแรงกดดันหลายเรื่อง เช่น คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2565 เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0.00-0.25% และเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 

 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน, การแพร่ระบาดของโอไมครอน, การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565, ประเทศในยุโรปอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังปี 2565 และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศจีนที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น 

 

“ปัจจัยทั้งหมดล้วนทำให้กระแสเงินไหลเข้าออกภูมิภาคอาเซียนและเกิดการผันผวนมากขึ้น ฉะนั้นนักลงทุนอาจต้องจับตาเรื่องเหล่านี้ต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปรับแผนการลงทุนได้ทันเหตุการณ์” ชัยพรกล่าว

 

กลยุทธ์ลงทุนในปี 2565 แนะกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้พอร์ตมีความสมดุล ยืดหยุ่น และรับมือกับดัชนีที่อาจปรับตัวขึ้นลงในปีหน้า ดังนี้ 

  • ตลาดหุ้น 65% (หุ้นไทย 12%, หุ้นเวียดนาม 17%, หุ้นสหรัฐฯ 22% ที่เหลือลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและจีน)
  • ทองคำ 10%
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 10%
  • ตราสารหนี้ 10%
  • เงินสด 5%

 

ขณะที่กลุ่มหุ้นเด่นที่ต้องมีติดพอร์ตก่อนปี 2565 คือ 

  1. กลุ่มการบริโภค เพราะราคาหุ้นกลุ่มนี้ยังปรับตัวขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้น CRC, CBG และ CPALL 

 

  1. กลุ่มสถาบันการเงิน คาดว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายปี 2565  

 

  1. กลุ่มด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม การบริหารข้อมูลด้านการตลาด และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นมากขึ้น จากการแข่งขันที่สูงในภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

  1. กลุ่มที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์โควิด เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ แต่ที่ผ่านมาราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง เราแนะคงสัดส่วนการลงทุนไว้เช่นเดิม 

 

  1. กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี มองว่าราคาน้ำมันดิบอาจไปได้ไม่ไกล หลังรัฐบาลทั่วโลกลงนามสนธิสัญญาลดคาร์บอน โดยราคาน้ำมันดิบปี 2565 อาจเฉลี่ยราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

 

  1. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แนะเพิ่มสัดส่วนเพราะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการและสนับสนุนการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ดีแนะให้ลดสัดส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะได้แรงหนุนจากเทรนด์ Metaverse และในปีหน้ากำไรขยายตัวต่อ แต่ปัจจุบันราคา Upside เหลือน้อยแล้ว จากมูลค่าที่ค่อนข้างแพงมาก 

 

สำหรับภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2564 ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนราว 13% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ติดลบ 9.13% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นแตะระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ 50,000 ล้านบาท หนุนด้วยปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีกว่าปี 2563 

 

ในด้านยอดเปิดบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ก็มีตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีใหม่ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำยาวนานหลายปี บวกกับมาตรการ Work from Home ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องทำงานและเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ส่งผลให้มีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนจึงแบ่งเงินออมมาลงทุนเพื่อหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนที่มากกว่าฝากเงินรับดอกเบี้ย

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X