×

Bangkok Art Book Fair เทศกาลที่จะทำให้คนใกล้ชิดและหลงรักหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะมากยิ่งขึ้น

08.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พบกับไฮไลต์เด็ดของ Bangkok Art Book Fair เทศกาลหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะที่จัดขึ้นเป็นปีแรกท่ีบางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 กันยายน

 

1.

     บรรยากาศวันแรกของงาน Bangkok Art Book Fair ทำให้เราส่ายหัวกับประโยคที่ว่า ‘Print is dead.’

     จากการเข้าร่วมงาน Bangkok Art Book Fair เมื่อวานนี้ ซี่งจัดขึ้นเป็นปีแรกที่ บางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี ย่านสาทร เราพบว่านี่คือเทศกาลหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะที่คึกคักและสนุกมากที่สุดงานหนึ่ง ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในงานตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนหกโมงเย็นจนถึงสามทุ่ม ต่างคนต่างเลือกหนังสือกันสนุก ฟังเจ้าของผลงานอธิบายที่มาที่ไปของงานแต่ละชิ้น เดินเวียนเข้าออกบูธร้านแล้วร้านเล่า สลับกับชมผลงานบนพื้นที่โชว์เคสภายในงาน หรือไม่ก็สนทนากันออกรส

 


2.

     หากใครรู้จักหรือเคยไปเที่ยวชมงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ในต่างประเทศมาบ้าง เช่น นิวยอร์ก โตเกียว ชิคาโก สิงคโปร์ ฯลฯ น่าจะตื่นเต้นกันไม่น้อยจะมีเทศกาลเช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านเราบ้าง และผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานก็คือ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี ร่วมกับ Studio 150 สตูดิโอออกแบบกราฟิกของ ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช และ พัชร ลัดดาพันธ์ ที่ต้องการเปิดพื้นที่กลางให้คนในแวดวงศิลปะ การออกแบบ และการพิมพ์ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผ่านงานเสวนา เวิร์กช็อป และเทศกาล ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักสะสมและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมจุดประกายบทสนทนาและสร้างชุมชนหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะ

     อันที่จริง เราเห็นทีมงานจัดกิจกรรมเล็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปีมาจนถึงกลางปี เริ่มจากงานเสวนาหัวข้อ The Art Book Makers: Examining the Current Local & International Art Book Landscape* ที่จัดร่วมกับศิลปิน นักเขียน ภัณฑารักษ์ สำนักพิมพ์ ช่างพิมพ์ และนักเย็บหนังสือ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประกาศเชิญผู้สนใจมาผลิตหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะเพื่อจำหน่ายในเทศกาลฯ ปรากฏว่ามีทั้งศิลปินไทยและเทศจองพื้นที่จนเต็มกันอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเวิร์กช็อป Data / Storytelling & Book Workshop กับ The Rambutan และ 2520 cm2 กับ The Archivist ซึ่งทั้งหมดนี้ปูทางมาสู่เทศกาล Bangkok Art Book Fair ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 กันยายนนี้

 

 

3.

     หลายคนอาจคิดว่านี่เป็น ‘งานอินดี้’ ซึ่งใช่ แต่ก็ไม่เชิง เพราะศิลปิน นักออกแบบ และสำนักพิมพ์ที่มาออกร้านและนำเสนอผลงานจัดพิมพ์กันเองเป็นสำนักพิมพ์อิสระ (Indie Publishing) แม้ว่าตัวเทศกาลจะเฉพาะเจาะจงไปทางหนังสือและสิ่งพิมพ์ศิลปะ แต่ก็เข้าถึงได้ไม่ยาก ด้วยผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มาร่วมตั้งโต๊ะออกร้านกว่า 30 รายทำให้มีความหลากหลายทั้งในแง่เนื้อหา รูปแบบ การนำเสนอ บวกกับราคา (ในระดับที่จับต้องและจับจองเป็นเจ้าของได้) เช่น Art4D, Anon x Tammarat x Pojai, Aperture Brought Me Here, DOOR to ASIA, LIKAYBINDERY, ManaStudio, P. Library และ The Uni_form Design Studio

     แค่เดินชมผลงานหนังสือสวยๆ แปลกตาก็เพลิดเพลินประหนึ่งเสพงานศิลปะแล้ว นอกจากนี้รูปแบบพื้นที่การจัดงาน (ออกแบบโดย THINKK Studio) และบรรยากาศเป็นกันเองในงานยังทำให้เราพูดคุยสอบถามเจ้าของผลงานได้โดยไม่รู้สึกเก้อเขิน หรือแอบยืนฟังโต๊ะข้างๆ คุยกันเรื่องเทคนิค/เดดไลน์ส่งโรงพิมพ์ก็ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก

 

 

4.

     สำหรับใครที่ไม่ถนัดคุย หรืออยากใช้เวลาเลือกหยิบจับ อ่านหนังสือ เดินชม ก็ทำได้ตามใจสะดวก เพราะนอกจากโซนออกร้านแล้วยังมีพื้นที่โชว์เคสขนาดย่อมที่นำผลงานของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปมาจัดแสดง และยังมีโซนจัดแสดงหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะที่เป็น Archive รวบรวมผลงานของศิลปินไทย บางเล่มหาดูได้ยาก หลายชิ้นเป็นผลงานสร้างชื่อของศิลปิน เช่น Primitive หนังสือเนื่องในงานแสดงนิทรรศการศิลปะ ‘Apichatpong Weerasethakul: Primitive’ ซึ่งจัดทำขึ้นในโอกาสที่นิทรรศการปลุกผีจัดแสดงเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในเล่มประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ว่าด้วยแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์  วีระเศรษฐกุล และตำราอาหารของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยร่วมสมัยที่รวบรวม 23 เมนูคลาสสิกสัญชาติไทย สวีเดน เยอรมัน ที่เขาเคยแสดงในเยอรมนี ซึ่งดูเหมือนกับหนังสือศิลปะ

 

5.

     และนี่คือผลงานของศิลปินบางส่วนที่เข้าร่วมงานนี้ซึ่งเราคัดสรรมาฝากกัน

 

 

P. Library

     พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ ศิลปินสตูดิโอออกแบบ P. Library ได้นำคำศัพท์เทคนิคของการวาดภาพแอนิเมชันมาขยายต่อสู่งานหนังสือภาพขนาด 15×180 ซม.

     “จริงๆ แล้ว in-between เป็นศัพท์เทคนิคทางแอนิเมชัน เวลาวาดรูปแอนิเมชันต่อกันแบบโบราณๆ ภาพที่วาดตรงกลางระหว่างส่วนหัวกับส่วนท้ายเรียกว่า in-between จริงๆ แล้วมันคือเรื่องสโคปเวลาซึ่งแต่ละช่วงไม่เท่ากัน ไอเดียหลักของหนังสือเล่มนี้ก็คือการนำภาพแอนิเมชันมาคลี่ออก ทำให้เกิดภาพวาดต่อกัน หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของชีวิตที่วนเวียนอยู่ภายใต้เวลา”

www.facebook.com/P.Library

 

Photo: Studio Marketing Materials

 

Studio Marketing Materials

     สตูดิโอออกแบบกราฟิก เจ้าของสารพัดโปรเจกต์ เช่น AS IS รวบรวมงานออกแบบที่ลูกค้าปฏิเสธ แต่มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่างานอื่นๆ มาจัดทำเป็นหนังสือศิลปะ, Miscellaneous Art Machine หนังสือบันทึกเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่หยิบผลงานของศิลปินมาใส่ตู้หนีบตุ๊กตา ด้วยความตั้งใจให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น

www.marketingmaterials.info

 

 

สำรับสำหรับไทย

     หนังสืองานศพอาหารริมทาง จัดทำโดยกลุ่มเชฟไทยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสืองานศพ เพื่อบอกเล่าที่มาและส่งต่อความรู้ของอาหารริมทางจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกผลกระทบจากการจัดระเบียบของภาครัฐ

     “มันเป็นหนังสืองานศพ ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดระเบียบพื้นที่ร้านอาหารริมทางมากขึ้น ร้านเหล่านี้ก็เลยอยู่ยากมากขึ้น มันเหมือนกับถูกฆ่า เลยทำหนังสืองานศพขึ้นมาสำหรับอาหารริมทาง

     “เนื้อหาก็จะเป็นลักษณะเหมือนกับหนังสืองานศพเมื่อก่อน ข้างหน้าจะเป็นคำนิยมว่าท่านนี้เป็นอย่างไร เกิดเมื่อไร ตายเมื่อไร ข้างหลังเป็นตำรับอาหารริมทางต่างๆ

     “จริงๆ แล้วสตรีทฟู้ดมันไม่ใช่ปัญหา มันอยู่ที่การจัดการ แทนที่จะมาทำลายมัน และเราก็มีตำรับอาหารเยอะ ก็เลยเอารูปแบบนี้มาใช้”

www.facebook.com/samrubforthai

 

 

Spacebar Design Studio

     ใครเป็นแฟนหนังสือทำมือ (Zine) หนังสือศิลปะ และโฟโต้บุ๊กไม่ควรพลาด เพราะ Spacebar Design Studio ชวนเหล่าศิลปินมาร่วมงานด้วยกันภายใต้ธีม Work & Travel ในโปรเจกต์ Spacebar Zine เช่น Sundae Kids, TUNA Dunn, jirabell, FAI KANTA, Husband & Wife, KRUTOM, aberabbit และอื่นๆ อีกเพียบ

www.facebook.com/gospacebar

 

 

Wide & Narrow

     A Glimpse into Modern Symbolism in 20th Century Siam หนังสือที่หยิบยกสัญลักษณ์ต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2745 มาตีความเชิงสัญญะและนำเสนอเป็นภาษาภาพ เช่น เพลงชาติ ตัวอักษร และโฆษณาชวนเชื่อ

www.facebook.com/WideAndNarrow

 

 

6. 

     ลำพังแค่การจัดเทศกาลหนังสือ/สิ่งพิมพ์ศิลปะในเมืองคงไม่สามารถการันตีได้ชัดว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่รอดได้จริงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการ ‘อ่าน’ หรือเป็นเจ้าของสื่อเหล่านี้ยังมีอยู่ และทำให้เราตั้งคำถามกับทางเลือกใหม่ในการเชื่อมโลกของคนทำหนังสือกับกลุ่มคนอ่านที่ไม่ใช่แค่งานสัปดาห์หนังสือประจำปีอย่างเดียว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X