วานนี้ (12 กันยายน) ที่ห้องประชุม อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานกรรมการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565
โดยที่ประชุมได้มีการรายงานเกี่ยวกับการขอรับเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน กทม. ซึ่งมีกองทุนสวัสดิการชุมชนขอรับการสมทบงบประมาณจาก กทม. รอบที่ 3 จำนวน 4 กองทุน ดังนี้
- กลุ่มกรุงเทพเหนือ: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตสายไหมขอรับเงินสมทบ 748,080 บาท
- กลุ่มกรุงธนเหนือ: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรีขอรับเงินสมทบ 232,200 บาท และกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตบางกอกน้อยขอรับเงินสมทบ 624,600 บาท
- กลุ่มกรุงธนใต้: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตทุ่งครุขอรับเงินสมทบ 186,840 บาท
และมีกองทุนสวัสดิการชุมชนขอรับการสมทบงบประมาณจาก กทม. รอบที่ 4 จำนวน 7 กองทุน ดังนี้
- กลุ่มกรุงเทพเหนือ: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตบางซื่อขอรับเงินสมทบ 69,120 บาท
- กลุ่มกรุงเทพตะวันออก: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตคันนายาวขอรับเงินสมทบ 1,041,840 บาท
- กลุ่มกรุงเทพกลาง: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตวังทองหลางขอรับเงินสมทบ 832,680 บาท
- กลุ่มกรุงธนเหนือ: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตคลองสานขอรับเงินสมทบ 214,200 บาท
- กลุ่มกรุงธนใต้: กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตบางบอนขอรับเงินสมทบ 2,349,720 บาท กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตราษฎร์บูรณะขอรับเงินสมทบ 547,920 บาท และกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตบางแคขอรับเงินสมทบ 345,600 บาท
โดยสำนักงานเขตได้รวบรวมคำขอรับการสมทบฯ จัดการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนระดับเขต และพิจารณาคุณสมบัติ ก่อนนำเข้าคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน กทม. พร้อมส่งรายงานการประชุมและเอกสารขอรับการสมทบฯ ให้แก่สำนักพัฒนาสังคม เพื่อตรวจสอบ
กองทุนที่ขอรับการสมทบฯ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น
- เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับเงินสมทบทั้งรอบแรกและรอบสอง (สำหรับการขอรับการสมทบฯ รอบที่ 3) หรือได้รับเงินสมทบครบ 3 ครั้ง (สำหรับการขอรับการสมทบฯ รอบที่ 4) มาแล้ว
- สมาชิกมีความหลากหลายทุกกลุ่มคน รวมถึงเยาวชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และสมาชิกกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ มีแผนพัฒนารวมถึงการเพิ่มจำนวนสมาชิก
- มีเงินกองทุนเพื่อสวัสดิการที่มาจากการสมทบของสมาชิก มิใช่เงินหุ้นหรือเงินฝากของสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ปกติ
- มีระบบการแสดงสถานะการเงินทุก 3 เดือน (สำหรับการขอรอบที่ 3) หรือทุกเดือน (สำหรับการขอรอบที่ 4) มีการบริหารกองทุนที่ชัดเจน
- มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างน้อย 6 ด้าน เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย การศึกษา และอาชีพ (สำหรับการขอรอบที่ 3) หรืออย่างน้อย 9 ด้าน เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ผู้ด้อยโอกาส การศึกษา และอาชีพ ที่ดูแลสมาชิกและคนในชุมชน โดยรวมถึงการจัดสวัสดิการที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน และเชื่อมโยงสวัสดิการกับงานพัฒนาอื่นๆ ในชุมชน เช่น องค์กรการเงิน สภาองค์กรชุมชน (สำหรับการขอรอบที่ 4)
- มีรายงานผลการดำเนินงานประจำปี รายงานสถานะทางการเงิน เป็นต้น
จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานพบว่า กองทุนสวัสดิการเขตต่างๆ ที่ส่งคำขอรับการสมทบฯ ทั้งรอบที่ 3 (จำนวน 4 กองทุน) และรอบที่ 4 (จำนวน 7 กองทุน) มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข มติที่ประชุมจึงเห็นชอบและอนุมัติในหลักการโดยจำนวนเงินสมทบเป็นไปตามที่เสนอคือ 360 บาทต่อคนต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,192,800 บาท
โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมผลการดำเนินงาน จัดสรรสวัสดิการ และเงินทุนคงเหลือ ของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับเงินสมทบงบประมาณจาก กทม. พร้อมรายงานที่ประชุมในครั้งต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายการดำเนินการโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนในการสร้างหลักประกันความมั่นคงของชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมในการจัดการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงในชีวิต
เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสัมฤทธิ์ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 ของระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ การจ่ายเงินสมทบ และอัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ การจ่ายเงินสมทบ และอัตราการจ่ายเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 จึงยกเลิกคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2786/2560 ลงวันที่ 8 กันยายน 2560 และมีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2030/2565 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2565
แต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ที่ผู้ว่าฯ กทม. มอบหมายให้เป็นประธานกรรมการในการดำเนินการ