×

กทม. เตรียมมาตรการจัดการน้ำเสีย สร้างระบบบำบัดควบคู่บังคับใช้กฎหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2022
  • LOADING...

วานนี้ (20 ตุลาคม) ที่ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, วาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมติดตามงานตามแผนการจัดการคุณภาพน้ำ    

 

ชัชชาติกล่าวว่า จากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำโดยสำนักการระบายน้ำ จำนวน 169 คลอง และแม่น้ำเจ้าพระยา 9 จุด พบว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำของพื้นที่กรุงเทพมหานครมีสภาพเสื่อมโทรม โดยจัดอยู่ในมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 5 (เพื่อการคมนาคมเท่านั้น) 

 

เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้มีปริมาณน้ำใช้ในแต่ละวันสูงขึ้นและปล่อยลงคลองโดยไม่ได้รับการบำบัดตามมาตรฐาน จึงส่งผลต่อธรรมชาติจนไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ กลายเป็นน้ำเน่าเสีย มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม 

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียของคูคลองอย่างยั่งยืน โดยใช้มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ตามแผนแม่บทการจัดการน้ำเสียของ กทม. พ.ศ. 2554 ประกอบกับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ควบคู่อีกทางหนึ่ง 

 

มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างประกอบด้วย การบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535, พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535

 

และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยหน่วยงานของ กทม. กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีหน้าที่กำกับดูแลอาคารต่างๆ เพื่อควบคุมให้เจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษปล่อยน้ำทิ้งที่จะระบายลงสู่คลองแสนแสบและคลองสาขาเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

 

ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น คลองแสนแสบและคลองสาขา โดยได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขาในระยะรัศมี 500 เมตร เป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,662 แห่ง ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ปฏิบัติถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด จำนวน 1,068 แห่ง สถานประกอบการที่ฝ่าฝืน จำนวน 395 แห่ง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง จำนวน 199 แห่ง

 

ชัชชาติกล่าวต่อด้วยว่า ที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ปลูกฝังจิตสำนึก ซึ่ง กทม. ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมมือในการส่งเสริมการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ เช่น การแจกเอกสารและสื่อประชาสัมพันธ์ในชุมชน การบรรยายทางวิชาการหรือฝึกอบรมแก่นักเรียน-นักศึกษา และแนะนำให้ความรู้แก่เจ้าของหรือผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย เจ้าของสถานประกอบการ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การนำนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดย กทม. ได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำคลอง โดยการใช้นวัตกรรมในการบำบัดน้ำเสียรูปแบบต่างๆ เช่น เครื่องเติมอากาศชนิดต่างๆ เครื่องบำบัดน้ำเสียในคลอง 

 

โดยได้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียไซโคลนิก ขนาด 1,000 ลิตรต่อวัน จำนวน 2 ถัง ณ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนกมาลุลอิสลาม เขตคลองสามวา ริมคลองแสนแสบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก SCG การติดตั้งถังดักไขมันอย่างง่ายให้กับชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม 

 

รวมถึงการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดย กทม. ได้ตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดในเขตพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของ กทม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่างระเบียบ 2 ฉบับ และร่างประกาศ 6 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ 

 

ในส่วนของมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบบำบัดและระบบรวมรวมน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบัน กทม. ให้บริการบำบัดน้ำเสียโดยโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 8 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา, รัตนโกสินทร์, ช่องนนทรี, หนองแขม, ทุ่งครุ, ดินแดง, จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ของ กทม. ครอบคลุมพื้นที่รวม 215.7 ตารางกิโลเมตร 22 เขต ได้แก่ เขตพระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, บางรัก, สาทร, บางคอแหลม, ยานนาวา, ดินแดง, ราชเทวี, พญาไท, ปทุมวัน, บางซื่อ, หลักสี่, จตุจักร, ห้วยขวาง, หนองแขม, บางแค, ภาษีเจริญ, ดุสิต, ทุ่งครุ, จอมทอง และราษฎร์บูรณะ สามารถบำบัดน้ำเสียได้ รวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

 

มีปริมาณน้ำเสียที่บำบัดได้จริงใน พ.ศ. 2564 เท่ากับ 834,507 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็กที่รับโอนจากการเคหะแห่งชาติ จำนวน 12 แห่ง คือ โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งสองห้อง 1, ทุ่งสองห้อง 2, บางบัว, รามอินทรา, ห้วยขวาง, ท่าทราย, บางนา, บ่อนไก่, คลองเตย, คลองจั่น, หัวหมาก และร่มเกล้า มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 24,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีปริมาณน้ำเสียบำบัดได้จริงใน พ.ศ. 2564 เท่ากับ 16,538 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

 

เมื่อรวมขีดความสามารถในการบำบัดจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่และขนาดชุมชน (ตามที่ออกแบบ) รวมทั้งสิ้น 1,136,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร 

 

สำหรับโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในอนาคต ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป) มีจำนวน 4 โครงการ คือ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย, โครงการบำบัดน้ำเสียธนบุรี, โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 และโครงการบำบัดน้ำเสียบึงหนองบอน หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มเติม 665,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 

 

ส่วนในระยะยาว (พ.ศ. 2566-2583) จะดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 15 แห่ง จำแนกเป็นโครงการบำบัดน้ำเสียของ กทม. ตามแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ จำนวน 8 แห่ง และโครงการบำบัดน้ำเสียที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่แนวคลองแสนแสบ จำนวน 7 แห่ง

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ด้วยสภาพเมืองและแนวโน้มอัตราความหนาแน่นของประชากรที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาทบทวนพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของ กทม. รวมถึงปรับปรุงระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่บริการหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อใช้ประโยชน์โรงควบคุมคุณภาพน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้จัดทำโครงการงานจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทการจัดการน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร กรอบระยะเวลา 210 วัน ซึ่งจะดำเนินการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising