×

สภา กทม. เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ปรับเพิ่มค่าเก็บ-กำจัดขยะ หวังให้ประชาชนทิ้งขยะน้อยลง แยกขยะเพิ่มขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2024
  • LOADING...
กำจัดขยะ

วานนี้ (30 ตุลาคม) สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, คณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

 

พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก. เขตยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติฯ

 

พุทธิพัชร์กล่าวว่า ขอบคุณ ส.ก. ที่โหวตผ่านข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้ ขอบคุณฝ่ายบริหารที่เห็นความสำคัญในการคัดแยกขยะและเตรียมข้อมูลมาอย่างครบถ้วน โดยหวังว่าร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับนี้จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบันของประชาชน

 

ทั้งนี้ เนื้อหาหลักที่แตกต่างระหว่างข้อบัญญัติฯ พ.ศ. 2546 กับ พ.ศ. 2562 คือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะนำปริมาณขยะมาประกอบการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทิ้งขยะจำนวนน้อยคือไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือผู้ที่คัดแยกขยะต้นทางจากครัวเรือนได้มากกว่า รวมถึงเก็บอัตราค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมากในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม

 

ซึ่งอัตราดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้คัดแยกขยะอีกทางด้วย ซึ่งการคาดการณ์รายได้จากการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะทำให้ กทม. สามารถจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น จากเดิม 166 ล้านบาทเป็น 664 ล้านบาท ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บอัตราใหม่นี้คือจะเก็บเงินกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขยะสู่เมืองในอัตราที่สูงขึ้น และหากใครคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยร่างข้อบัญญัติฯ นี้ต้องการสร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่ของ กทม. ในการให้บริการประชาชน

 

สำหรับสาระสำคัญอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็นค่าเก็บและขนสิ่งปฏิกูลต่อครั้ง คิดอัตราลูกบาศก์เมตรละ 300 บาท ส่วนอัตราค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไปแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

 

กลุ่มที่ 1 ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท (เดิม 20 บาท)

 

กลุ่มที่ 2 เกิน 20 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน (เดิม 40 บาทต่อ 20 ลิตร) และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เดิม 2,000 บาท) อัตราใหม่คือค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร และค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร รวม 120 บาทต่อ 20 ลิตร

 

กลุ่มที่ 3 เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เดิม 2,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร) ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร รวม 8,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร

 

ปีที่ผ่านมา กทม. ยังไม่มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว แต่มีโครงการ ‘ไม่เทรวม’ ซึ่งสามารถลดขยะได้มากกว่า 10% จากความร่วมมือของประชาชน ดังนั้นหากเริ่มบังคับใช้ข้อบัญญัติฯ ดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะสามารถลดขยะของ กทม. ได้ปริมาณมหาศาล และสร้างรายได้ให้กับ กทม. จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอีกทางด้วย

 

ด้านจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมว่า เดิมข้อบัญญัติฯ พ.ศ. 2562 กำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (ค่าเก็บขยะ) ตามครัวเรือนเดือนละ 80 บาท โดยมองว่ามีค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ผู้ว่าฯ กทม. จึงให้จัดทำข้อบัญญัติฯ ใหม่ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 แบบ คือ 1. มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน 2. ไม่มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน

 

หลังจากนี้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบให้มากที่สุด คาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ทั้งนี้ ใน กทม. มีบ้านเรือนประชากรกว่า 2 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีประชาชนคัดแยกขยะประมาณ 50,000 ครัวเรือน

 

โดยเบื้องต้นจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน และที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะในสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ และเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือนตามเดิม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X