“คีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับหนังเรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ มีแค่ 3 คำคือ สาว 30 ยังไม่มีแฟน, ความรักของคนกลางวันและคนกลางคืน และการจราจรในกรุงเทพฯ” นั่นคือสิ่งที่ พี่เก้ง-จิระ มะลิกุล บอกผมเมื่อ 12 ปีที่แล้ว สมัยผมยังเป็นเด็กฝึกงานด้านการเขียนบทหนังที่ GTH
สำหรับพี่เก้งและพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ – โปรดิวเซอร์ ปัจจุบันผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์) หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่พี่ๆ เขาสร้าง แต่สำหรับผมแล้วนี่คือโปรเจกต์หนังขนาดยาวในระบบสตูดิโอเรื่องแรกที่ตัวเองมีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะคนเขียนบท ทั้งๆ ที่ความรู้ก็ยังน้อยนิด จึงไม่น่าแปลกใจที่เวลา 12 ปีผ่านไป อาจจะไม่สามารถทำลายความทรงจำเกี่ยวกับงานนี้ของผมได้
จะลืมได้อย่างไร ก็หนังเรื่อง BTS (Bangkok Traffic Love Story) เป็นการเรียนหนังสือด้านภาพยนตร์ครั้งสำคัญของชีวิตก็ว่าได้ เพราะอยู่กับมัน 2 ปีเต็มเหมือนเรียนปริญญาโท จริงๆ นอกจากพี่เก้ง พี่วรรณ และพี่ปิ๊งแล้ว (อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม – ผู้กำกับ รถไฟฟ้า มาหานะเธอ) ผมต้องขอบคุณพี่อำ (อมราพร แผ่นดินทอง) และพี่โอ๋ (เบ็ญจมาภรณ์ สระบัว) ผู้ร่วมเขียนบทและติวเตอร์ด้านการเขียนบทของผมในเวลานั้น
15 ตุลาคมที่ผ่านมา โทษฐานครบรอบ 10 ปีนับจากวันที่ออกฉาย ผมจึงโทรหาพี่ปิ๊ง เพื่อชวนคุยเรื่องเมื่อ 10-12 ปีก่อน ในขณะที่หนังเรื่อง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ กำลังถูกเขียนบทและถ่ายทำ มีหลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และมีอีกหลายเรื่องที่รู้แต่ลืมแล้ว เลยกลับมาจำได้ใหม่
นางเอกหมวยๆ…ไม่เอานะเธอ
หลายคนคิดว่าความแข็งแรงของความหมวยในหนังเรื่องนี้จะต้องเป็นแกนหลักในการหานางเอกแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วไอเดียการหานักแสดงเรื่องนี้คือสาวตาโตแบบการ์ตูนตาหวาน นักแสดงที่ได้รับการเรียกมาแคสติ้งในรอบแรกจึงเป็นสาวตาโตล้วนๆ กลมดิ๊ก คือถ้าตาใครมีประกายน้ำแบบในการ์ตูนจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายไทป์นี้ก็ตกรอบไป เพราะความหมวยยังคงครอบงำหนังเรื่องนี้จนทางโปรดิวเซอร์ไม่สามารถสลัดออกไปได้ ตัวเลือกนักแสดงหมวยจึงทยอยกลับมาอีกครั้ง
ชื่อของ คริส หอวัง ที่ป๊อปอัพมาเป็นชื่อแรกๆ สมัยทีมแคสติ้งเพิ่งได้อ่านบทใหม่จึงกลับมาอีกครั้งในตารางการแคสติ้ง และสุดท้ายชื่อของเธอก็ถูกพิมพ์ลงโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ และประทับลงในจิตใจของสาววัย 30 ชาวไทยที่ยังไม่มีแฟนทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็นไอดอลเลยก็ว่าได้
รถด่วน…ขบวนบางรัก
ผมคุยกับพี่ปิ๊งเล่นๆ ว่า เออ ตอนนั้นที่ผมดูหนัง ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมบ้านคุณลุง (เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) มันจะต้องเป็นเกสต์เฮาส์ริมแม่น้ำ พี่เน้นเอาสวยเหรอ พี่ปิ๊งบอกว่า มึงจำไม่ได้เหรอว่าบทร่างแรกๆ ชื่อหนังมันคือ Last Train To Bangrak …อ๋อ ใช่ว่ะ
ชื่อหนังแรกๆ คือ Last Train To Bangrak ตั้งโดย พี่เก้ง-จิระ มะลิกุล แน่นอนว่าฟังง่ายและตรงไปตรงมา นึกถึงเพลงดังที่ร้องว่า เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย และขบวนสุดท้ายนั้นกำลังจะวิ่งไปที่บางรัก คือถ้ามึงไม่ขึ้นขบวนนี้ มึงอาจจะไม่มีความรักแล้วนะ ถ้าเจอคนที่ใช่แล้ว มึงต้องขึ้นแล้วล่ะ เลิกเก๊กได้แล้ว อะไรประมาณนี้
ดังนั้นพี่ปิ๊งเลยเริ่มไปเดินเล่นแถวบางรักจริงๆ ว่ามันมีอะไรแถวๆ นั้นบ้าง บ้านของนางเอกจึงเป็นตึกแถวเหมือนบ้านในย่านนั้น รวมถึงบ้านคุณลุงที่เขียนไว้ว่าจะต้องอยู่ใกล้บ้านเหมยลี่ ก็เลยไปอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสุดท้ายสถานีรถไฟฟ้าที่เหมยลี่และคุณลุงขึ้นเป็นประจำจึงเป็นสถานีสะพานตากสิน
สุดท้ายชื่อหนัง Last Train To Bangrak จึงกลายร่างมาเป็น รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (Bangkok Traffic Love Story)
เมโลดราม่า…ไม่ได้นะเธอ
พี่ปิ๊งเล่าว่า มึงรู้ไหมว่าตอนนั้นกูมีความพยายามจะทำให้หนังเรื่องนี้ไม่มีฉากน้ำตาร่วงเมโลดราม่าสุดจี๊ด เพราะฉากแบบนี้หนัง GTH ในยุคนั้นมีบ่อยมาก พี่ปิ๊งเลยต้องการ Disrupt
ฟังเสร็จ ผมนั่งคิดว่าในหนัง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ มันไม่มีฉากเมโลดราม่ายังไง ฉากคริส หอวังร้องไห้เละเทะตอนได้รับของเก่าๆ คืนจากคุณลุงนั่นสุดจะ Dramatic
พี่ปิ๊งเลยบอกว่า ก็กูพยายามแล้วไง แค่สุดท้ายมันไม่สำเร็จ (ฮา) เขาเล่าให้ฟังต่อว่า ฉากนั้นจริงๆ แล้วพี่ปิ๊งบรีฟคริสว่า อย่าร้องเละเทะนะ เอาแบบคลอๆ น้ำตาเกาะขอบตาพอ เธอต้องพยายามกลั้นให้ได้ เพราะอารมณ์ตัวละครมันเป็นแบบนั้น
เทกแรก แอ็กชัน: น้ำตาท่วม
พี่ปิ๊งขอใหม่อีกรอบ บรีฟใหม่ อย่าร้องๆ เอานิดเดียวพอ
เทกสอง แอ็กชัน: ร้องเละ
พี่ปิ๊งคิดในใจ เอาวะ มึงร้องไปสองเทกแล้ว น้ำตาหมดแล้วแน่นอน เทกสามเดี๋ยวแม่งได้แล้วล่ะ
เทกสาม แอ็กชัน: ร้องเละเทะที่สุด / จบ.
พี่ปิ๊งหันกลับไปถามพี่เก้ง จิระที่ไปออกกองด้วยว่าเอาไงดีครับพี่ พี่เก้งบอกว่า เลยตามเลย
สุดท้ายเราก็ได้ฉากเมโลดราม่าสุดจี๊ดกลับมาอยู่ในหนัง แม้จะไม่เป็นไปตามความตั้งใจของพี่ปิ๊ง แต่มันก็จี๊ดจริงๆ นะพี่
เคนธีรเดช…ไม่มีใครจำได้นะเธอ
ความดังของพี่เคนในช่วงปีนั้นเรียกได้ว่า กงยู เมืองไทย
ความเหนื่อยลำบากของกองถ่ายคือ การถ่ายทำพี่เคนในตอนกลางวัน เพราะจะมีคนมารุมล้อมพี่เคนตลอดเวลา ตอนถ่ายฉากงานสงกรานต์ตรงถนนใหญ่ก็จะมีมอเตอร์ไซค์บิดมาขนาบข้างตลอด
แต่โชคดีว่าตัวละครของพี่เคนเป็นพระเอกแห่งรัตติกาล เน้นอยู่กลางคืน เวลาถ่ายพี่เคนตอนกลางคืนจะไม่ค่อยมีปัญหามาก เพราะคนทั่วไปเหมือนจะไม่แน่ใจว่านี่ใช่เคน ธีรเดชหรือเปล่า มาเดินเล่นอะไรดึกดื่นแถวย่านชุมชนแบบนี้ จึงช่วยให้เกิดความสบายในการถ่ายทำมากขึ้น บางทีไปขึ้นรถไฟฟ้าคนก็ไม่ค่อยตกใจมาก
คนสร้างราง…ไม่ใช่นะเธอ
บทร่างแรกๆ ของหนังเรื่องนี้จริงๆ ว่าด้วยการที่พี่เคนของเราเป็นคนสร้างรางรถไฟฟ้าแล้วส่วนต่อขยายนั้นมันมาพาดผ่านหน้าบ้านและดาดฟ้าของตึกแถวบ้านเหมยลี่ ทั้งสองเลยมีโอกาสได้คุยกันผ่านรางรถไฟฟ้าและดาดฟ้าบ้าน โดยที่ตอนนั้นผมมีโอกาสได้ไปรีเสิร์ชบ้านเพื่อนที่ขายมอเตอร์ไซค์แล้วสถานีรถไฟฟ้าอยู่ติดกับดาดฟ้าบ้านจริงๆ คือใกล้กับชานชาลาชนิดที่ว่าสามารถกระโดดข้ามไปได้เลย พวกเราคิดว่าพล็อตนี้น่าสนใจจริงๆ คือถ้าเหมยลี่ไม่ยอมทำอะไรสักทีกับคุณลุง รางที่ลุงสร้างก็จะค่อยๆ เสร็จและเลยผ่านหน้าบ้านตัวเองไป
เมื่อเขียนเสร็จ ทางโปรดิวเซอร์เอาบทไปเสนอทาง BTS เพื่อจะขออนุญาตสถานที่ถ่ายทำ และทันทีที่ BTS อ่านจบ เขาบอกว่าชอบมากครับ แต่ว่าตัวละครคนสร้างรางไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเรานะครับ เพราะ BTS ไม่ใช่บริษัทรับก่อสร้างรางรถไฟ ได้ยินแบบนี้ก็เหวอกันไปแป๊บหนึ่ง สุดท้ายเราก็กลับมาแก้ไขบทพี่เคนให้กลายวิศวกรซ่อมบำรุงรางประจำวันแทน ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องทำงานตอนดึกหลังรถไฟฟ้าปิด ก็คือเที่ยงคืนเป็นต้นไป ซึ่งก็ยังรักษาคอนเซปต์การเป็นคนกลางคืนได้เหมือนเดิม
(แถม) บทร่างแรกๆ หนังจบที่คุณลุงและเหมยลี่ร่ำลากันที่สะพานตากสิน ก่อนที่คุณลุงจะลาไปเมืองนอกและทั้งสองคนไม่ได้เจอกันอีกเลย ซึ่งแน่นอนว่าพี่คนอื่นๆ ก็มาช่วยทำให้ตอนจบอันแสนหดหู่นี้กลายเป็นฉากจบที่ดีกว่าเดิมอย่างที่เห็นในหนัง
รถไฟฟ้า…มาหานะเพลิน
หากจำกันได้ บรรดาหนุ่มๆ ที่มาตบตีแย่งชิงน้องเพลิน (แพทตี้ อังศุมาลิน) ประกอบไปด้วยชาย 3 คน นั่นคือ เด็กสเกต ไอ้หนุ่มรวยๆ สุดหล่อ และเด็กแว้น ทั้ง 3 คนนำแสดงโดย มาร์โค เมาเร่อ พี่ชายของมาริโอ้ (ซึ่งเล่นสเกตบอร์ดไม่เป็น), ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช ตากล้องเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ปีนี้ จากเรื่อง มะลิลา The Farewell Flower และเด็กแว้นขาเดฟที่ว่าก็คือ แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์ ของพวกเรานั่นเอง
ชาวี…Begins นะเธอ
ซีรีส์สุดคัลต์ น้ำตากามเทพ และคุณชาวี เริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้
พี่ปิ๊งเล่าว่า ปกติ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ เขาเลือกรับงานนะครับ เขาไม่ได้เล่นทุกเรื่อง แต่พอพี่ปิ๊งชวนมาเล่น น้ำตากามเทพ ละครที่อยู่ในหนังเรื่องนี้อีกที ซันนี่ก็ตอบตกลงทันที ในบทตอนนั้น ซันนี่รับบทเป็นดาราชื่อ สตีเฟ่น จำรัส ซึ่งเล่นละครชื่อ น้ำตากามเทพ ร่วมกับ แอฟ ทักษอร โดยมีต้นแบบแห่งการแสดงแนวโกรธแล้วชี้มือสั่นจาก ตู่-นพพล โกมารชุน และ อั้ม-อธิชาติ ชุมนานนท์
และเมื่อถามว่าทำไมต้องชื่อ สตีเฟ่น จำรัส พี่ปิ๊งเผยว่า มันมีที่มาจากการที่ซันนี่เคยถูกแท็กซี่ทักว่า ‘เฮ้ย น้องคือสเตฟานใช่ไหม’ (สเตฟาน ฐสิษฐ์ อดีตพระเอกละครสังกัดช่อง 7) และบวกกับอยากล้อนักฟุตบอล สตีเวน เจอร์ราร์ด กัปตันทีมลิเวอร์พูลในเวลานั้น สุดท้ายชื่อเลยออกมาเป็น สตีเฟ่น จำรัส คือมันอาจจะฟังดูอะไรก็ไม่รู้นิดหนึ่งนะครับ ก็ให้อภัยพี่ปิ๊งของผมด้วย
โปรดส่งใคร…มารักนะเธอ
พี่ปิ๊งพยายามจะใส่เพลงนี้ลงในหนังอยู่ตลอด ช่วงที่ก่อนเหมยลี่จะขับรถชนร้านก๋วยเตี๋ยวและได้พบกับคุณลุง (คือร้องว่า โปรดส่งใครมารักฉันที ก็ได้ผลเลย) แต่สุดท้ายจังหวะหนังทำให้ใส่เพลงนี้ในหนังไม่ได้
เพลงนี้ถูกเขียนอยู่ในบทมาตลอด ระบุเลยว่าใช้เพลงนี้ พี่ปิ๊งชอบมาก เพราะได้ฟังเวลาไปเที่ยวผับ ก็เสียดายที่ไม่ได้ใช้ แต่สุดท้ายคุณบอล หนังพาไป (ทายาท เดชเสถียร) ซึ่งเป็นคนถ่ายเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ในตอนนั้นเดินมาถามว่า “พี่ปิ๊งครับ คืออยากให้ใช้เพลงอะไรในวิดีโองานฉลองเลี้ยงปิดกล้อง” พี่ปิ๊งก็บอกให้ใช้เพลงนี้ไป
วันนั้นบอลตัดวิดีโอฉลองเลี้ยงปิดกล้องด้วยเพลง โปรดส่งใครมารักฉันที พร้อมกับฉากที่ประตูบ้านเหมยลี่เปิดออกมาแล้วเจอหน้าพี่เคน ทุกคนรู้สึกว่านี่แม่งถูกต้องมากๆ เลยเอาวิดีโอฉลองนี้ไปเป็นพื้นฐานในการตัดเทรลเลอร์หนังจริงๆ คือไม่ว่าตัดยังไงจะต้องมีฉากเปิดประตูออกมาเจอพี่เคนแล้วขึ้นท่อนที่ร้องว่า โปรดส่งใครมารักฉันที
จำได้ว่าคนอยากดูหนังเรื่องนี้ทันทีเมื่อเจอช็อตนี้ เพลงนี้เข้าไป และช็อตนี้ก็กลายเป็นช็อตคลาสสิกมาตลอด 10 ปี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า