×

ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมส่งการบ้านให้คนกรุงเทพฯ หลังเข้าทำงานครบ 99 วัน ยึดหัวใจหลักใช้ประชาชนเป็นที่ตั้ง สร้างการมีส่วนร่วม

โดย THE STANDARD TEAM
09.09.2022
  • LOADING...
ทีมรองผู้ว่าฯ กทม.

วันนี้ (9 กันยายน) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) คณะรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำโดย วิศณุ ทรัพย์สมพล, จักกพันธุ์ ผิวงาม, ทวิดา กมลเวชช และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมแถลงข่าวหัวข้อ ‘99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง’ เนื่องในวันครบรอบคณะทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บริหารงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครบ 99 วัน

 

ทวิดากล่าวว่า ในแง่ของความปลอดภัยดี ทาง กทม. เรียกว่าถูกรับน้องหลายเหตุการณ์ใหญ่ เช่น ไฟไหม้ชุมชน น้ำท่วมจากฝนตกหนัก หรือเรื่องอาคารที่โครงสร้างไม่ได้ตามมาตรฐาน ตลอดในช่วง 99 วัน กทม. ได้จัดทำฐานข้อมูลทั้งหมด เพื่อต่อยอดไปสู่ Bangkok Risk Map หรือแผนที่ความเสี่ยง

 

ในส่วนของสุขภาพดี ที่ผ่านมานั้นมีการสร้างคลินิกวันเสาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านสุขภาพให้แก่ภาคประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนที่มีวัคซีนเชิงรุก เข้าถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง และคลินิก Long-Covid จำนวน 9 คลินิก ใน 9 โรงพยาบาลหลัก ที่ประชาชนสามารถไปปรึกษาอาการ Long-Covid ได้ รวมถึงศูนย์บริการคนพิการเบ็ดเสร็จใน 9 โรงพยาบาล และการเปิด Pride Clinic เพื่อความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา วิธีการดูแลตัวเอง รวมถึงวิถีทางเพศอีกด้วย

 

ทวิดากล่าวต่อไปว่า กทม. ได้เปิด Sandbox ทางสุขภาพ เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขหรือร้ายขายยา เข้าสู่โรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ซึ่งครอบคลุมในเขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ เขตบางพลัด ซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุง ทำให้ต่อจากนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ใกล้บ้านมากขึ้น

 

และในอีก 99 วันต่อจากนี้ ทาง กทม. จะบริหารความปลอดภัยด้วยระบบข้อมูลและข้อมูลอาสาสมัครจัดการ ซึ่งประชาชนสามารถติดตามได้ และจะมีการระบุจุดวิกฤตของการเกิดน้ำท่วมหรืออัคคีภัย รวมถึงปรับการทำงานโครงสร้างของ กทม. โดยให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยตามที่ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

 

ด้านวิศณุกล่าวว่า กทม. ได้มีการดำเนินการในส่วนการบริหารจัดการน้ำ การขุดลอกคูคลอง และการเร่งระบายน้ำ การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งมีการจัดเรียงกระสอบทรายตามแนวฟันหลอ ระยะทาง 3.12 กิโลเมตร และในช่วงน้ำท่วมนี้มีรถบริการรับ-ส่งประชาชน โดยมีหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยเหลือด้วย

 

ในส่วนการปรับปรุงทางม้าลายทำเสร็จสิ้น 1,286 จุด จาก 2,788 จุด ระบบ CCTV และการขอภาพ ซึ่งมีประชาชนติดต่อขอไปแล้ว 1,168 ราย และการคืนพื้นผิวจราจร ทำจุดเสี่ยงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย 100 จุด ย้อนหลัง 3 ปี โดยดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยง 2 จุด และเตรียมการปรับปรุง 54 จุด วิเคราะห์อีก 44 จุด นำสายสื่อสารลงดินและจัดระเบียบสายสื่อสารที่กำลังเร่งพัฒนาการบริหารต่อไป

 

วิศณุกล่าวต่ออีกว่า การตัดสินใจจัดการเรื่องต่างๆ ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ หลายส่วนที่ได้ทำไปแล้วคือ Quick Win แก้ไขสถานการณ์ขณะนั้น แต่อนาคตจะต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง ต้องใช้ข้อมูลไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ เช่น การแก้ไขปัญหาจราจรที่เดือนนี้ทางผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญมาก สิ่งที่ทำตอนนี้เริ่มจากการวิเคราะห์จุดรถติด ช่วงเวลาไหน เพื่อหาสาเหตุต้นต่อได้ถูก

 

ขณะที่จักกพันธุ์กล่าวว่า ได้มีการทำจุดการค้า นโยบายสวนสาธารณะ 15 นาที และนโยบายด้านการจัดการขยะ โดยในส่วนการจัดทำจุดการค้านั้นได้มุ่งไปที่เรื่องหาบเร่แผงลอย โดยเป้าประสงค์คือต้องการให้ประชาชนและหน่วยงานมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุด (The Best City) โดยทำพื้นที่การค้า 95 จุด ซึ่งจะมีผู้ค้ารายย่อยจำนวน 6,048 ราย

 

ซึ่งระยะเวลานั้นได้ตั้งเป้าระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 จำนวน 17 จุด ระยะที่ 2 เดือนธันวาคม 2565 จำนวน 29 จุด และระยะที่ 3 เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 อีก 26 จุด ขณะที่พื้นที่ทำการค้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานกลุ่มผู้ค้า 70 ราย

 

นโยบายสวนสาธารณะ 15 นาที มีแนวคิดคือสวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะทางเดินประมาณ 800 เมตรจากละแวกบ้าน มีกำหนดทำคือที่เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะ เขตวัฒนา เขตจตุจักร รวมถึงโครงการลดและคัดแยกขยะจากประเภทแหล่งกำเนิด

 

ทางด้านศานนท์กล่าวว่า ได้จัดทำแนวคิดเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต้องทำหลายมิติพร้อมๆ กัน ที่ผ่านมาประชาชนจะเห็นภาพการทำกิจกรรมให้เมืองมีชีวิตเพื่อให้ทุกคนมาใช้ชีวิต เช่น ดนตรีในสวน และ 12 เทศกาล 12 เดือน

 

นอกจากนี้ตนได้ทำนโยบายดึงอัตลักษณ์ชุมชนของแต่ละชุมชนมาจัดกิจกรรม เช่น ถนนคนเดิน ซึ่งได้มีการนำร่องไปแล้ว 11 ย่าน และเปิดพื้นที่บริการเฉพาะจุด จัดหางานให้คนไร้บ้าน 4 จุด ซึ่งมีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คนต่อจุดต่อวัน การยกระดับสวัสดิการคนพิการ โดย กทม. จ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น 212 คน ใน 50 เขต รวมเป็น 324 คน และพัฒนาคุณภาพให้คนพิการ รวมถึงสนับสนุนอาชีพและเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้สร้างสรรค์อาชีพ

 

ศานนท์กล่าวต่ออีกว่า ในแง่ของการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีการมุ่งเน้นเรื่องความโปร่งใส เปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ภายใต้นโยบาย Open Bangkok เช่น การเปิดร่างงบประมาณปี 2566 และแพลตฟอร์มปลูกต้นไม้ล้านต้น อีกทั้งนโยบายการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Open Education) โครงการสอนน้องนอกเวลาเรียน วิชาชีพเลือกเสรี และ After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมภายในปี 2566

 

ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ทีมรองผู้ว่าฯ กทม. ทีมรองผู้ว่าฯ กทม.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X