×

เมื่อชีวิตของ ‘พนักงานกวาดถนน กทม.’ ต้องแขวนไว้บนความประมาทของ ‘ผู้ขับขี่’

12.10.2022
  • LOADING...

“ช่วงเสี้ยววินาทีมันเปลี่ยนชีวิตได้เลย ทั้งคนขับและคนถูกชน… กทม. จะดูแลเพื่อนร่วมงานพี่น้องเราอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้” 

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ของ สมศรี ยิ้มแฉล้ม ลูกจ้างประจำตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตสะพานสูง ที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถชนขณะปฏิบัติหน้าที่ บริเวณถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก แขวงและเขตสะพานสูง เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

เหตุการณ์การสูญเสียครั้งนี้นอกจากสร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัวและเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังเป็นคลื่นที่ซัดหาหน่วยงานต้นสังกัดอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ค้นหาแนวทาง วิธีการที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยปกป้องและลดการสูญเสียในอนาคต

 

THE STANDARD ได้รับข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. พบว่าปัจจุบัน กทม. มีพนักงานกวาดถนนทั้งหมด 10,771 คน แบ่งเป็นลูกจ้างประจำ 7,142 คน ลูกจ้างชั่วคราว 3,629 คน มากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง ส่วนมากพนักงานชายจะไปอยู่ที่ส่วนงานจัดเก็บขยะมูลฝอย

 

พนักงานกวาดถนน 1 คนจะรับผิดชอบการรักษาความสะอาดเฉลี่ยอยู่ในระยะ 500-1,000 เมตร นอกจากหน้าที่กวาด ทำความสะอาด ยังมีหน้าที่เดินตรวจตราบริเวณที่รับผิดชอบ และคอยแนะนำการทิ้งขยะให้ประชาชน โดยจะแบ่งรอบการทำงานเป็น 2 รอบในช่วงเวลา 05.00-12.00 น. และ 13.00-20.00 น.

 

ทั้งนี้ ในสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2565 มีพนักงานกวาดถนนของ กทม. ถูกรถเฉี่ยวชนขณะปฏิบัติหน้าที่จนเสียชีวิตรวม 10 คน

 

“แม้ผู้ปฏิบัติงานสวมเสื้อกั๊กอย่างถูกต้องแล้วในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ผู้ขับขี่ที่ไม่ระวังก็ทำให้เกิดการสูญเสีย” เสาวลักษณ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง กล่าวภายหลังตำรวจจับกุมคนขับรถชนสมศรีได้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม

 

 🏍 ใน 1 ปี มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ‘หลักหมื่น’ คน 🏍

 

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) จากการเก็บรวบรวมในปี 2564 พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 897,126 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 883,307 คน เสียชีวิต 13,656 คน และทุพพลภาพ 163 คน

 

อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 52.56, จากรถยนต์ ร้อยละ 47.44, เกิดกับช่วงอายุ 36-60 ปี ร้อยละ 26.82, ใน 1 สัปดาห์เกิดวันจันทร์มากที่สุด ร้อยละ 16.35 และเกิดในช่วงเวลา 10.00-13.59 น. มากที่สุดร้อยละ 12.83, จำแนกตามภูมิภาค มากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้บาดเจ็บ 37,236 คน เสียชีวิต 825 คน ทุพพลภาพ 16 คน ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้บาดเจ็บ 20,140 คน เสียชีวิต 279 คน และทุพพลภาพ 3 คน

 

ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปรียบเทียบข้อมูลทางอุบัติเหตุปี 2563 พบว่า ปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึง 17,831 คน คิดเป็น 27.2 ต่อแสนประชากร หรือ 49 คนต่อวัน หรือชั่วโมงละ 2 คน

 

🏍 บนถนน ความเสี่ยงแลกมาด้วยสวัสดิการอะไรบ้าง 🏍

 

อัตราเงินเดือนอ้างอิงจากประกาศรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด) ได้เงินเดือนประมาณ 8,690 บาท ขณะที่พนักงานจ้างทั่วไป (เก็บ-กวาด) และพนักงานจ้างตามภารกิจ เฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอัตราเงินเดือนระหว่าง 9,000-18,000 บาท 

 

สวัสดิการพื้นฐานสำหรับลูกจ้างชั่วคราว จะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม, หากเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ จะได้รับการดูแลผ่านกองทุนประกันสังคมหรือโรงพยาบาลของ กทม., สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่ครอบครัวได้ เช่น บุตร พ่อ แม่ สามี, กรณีเสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ จะได้ค่าทำศพจากเงินเดือนสุดท้ายและไม่ได้ให้บำเหน็จ แต่จะได้เงินจากกองทุนทดแทน 

 

ส่วนลูกจ้างประจำจะมีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ เงินเดือนของพนักงานประจำสูงสุดอยู่ที่ 21,000 บาท, กรณีเสียชีวิตจะได้รับการเงินค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย ทั้งด้วยอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุ, กรณีที่ลูกจ้างประจำเสียชีวิตขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จะได้รับค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนสุดท้ายและได้เงินบำเหน็จ, ส่วนสวัสดิการที่พนักงานประจำได้รับคือชุดปฏิบัติงานสะท้อนแสง 2 ชุดต่อปี และอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่น เสื้อกั๊กสะท้อนแสง รองเท้าบู๊ตและถุงมือยาง

 

ทั้งนี้ พนักงานกวาดถนนตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวยังมีโอกาสที่จะได้รับความก้าวหน้าในการทำงาน โดยหากลูกจ้างชั่วคราวมีความประพฤติที่ดี ขยันหมั่นเพียร ไม่ค่อยขาดงาน และมีอายุงานที่พอสมควร (กำหนดไม่น้อยกว่า 3 ปีขึ้นไป) ก็จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเป็นลูกจ้างประจำจากการประเมินและคัดเลือกของกรรมการได้

 

ในส่วนมาตรการความปลอดภัยเพื่อดูแลพนักงานกวาดในสังกัด กทม. ที่ทีม THE STANDARD ตรวจสอบพบ ประกอบด้วย การพูดคุยและกำชับหัวหน้างานให้กวดขันเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงในช่วงเวลามืดค่ำ, เปลี่ยนเครื่องแบบให้สะท้อนแสงเด่นชัดขึ้น, มีหัวหน้างานตรวจตราพื้นที่ตามถนนต่างๆ, การจ้างเหมารถกวาดถนนเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ โดยจะใช้รถกวาดถนนในถนนสายหลัก ผิวจราจร สะพาน อุโมงค์ทั้งหมด พนักงานกวาดถนนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแค่ทางเท้าและเข้าไปกวาดในซอยที่รถเข้าไม่ถึงหรือจุดที่ท่อระบายน้ำอุดตัน

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุให้กับพนักงานกวาดถนนของ กทม. จำนวน 50 เขต ทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว รวมทั้งสิ้น 9,079 คน ระยะเวลาเอาประกันภัย 1 ปี จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาทต่อคน ซึ่งกรมธรรม์ดังกล่าวได้เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 – 24 สิงหาคม 2566

 

“เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแลพี่น้องที่ทำงานเพื่อ กทม. รวมถึงเป็นการสร้างกำลังใจให้พวกเขาได้รู้สึกว่ามีคนเห็นความสำคัญของเขา เพราะพี่น้องเหล่านี้เป็นคนที่เสียสละ ตอนที่พวกเรายังหลับอยู่ เขาก็ออกมาเพื่อกวาดถนนกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5 แล้ว ถ้าไม่มีพวกเขาสักวันเดียว กรุงเทพฯ คงจะรกรุงรัง” ชัชชาติกล่าวในโอกาสรับมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มพนักงานกวาดถนน

 

🏍 ‘พนักงานกวาด’ เป็นฟันเฟืองที่พ่อเมืองให้ความใส่ใจ 🏍

 

ย้อนกลับไปก่อนที่ชัชชาติจะได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ประเด็นการดูแลสิทธิ สวัสดิการของพนักงานกวาด กทม. ถูกพูดถึงและถูกบรรจุใน 216 นโยบายตั้งแต่ขณะนั้น ในเว็บไซต์ https://www.chadchart.com/ ได้ระบุว่า

 

“กทม. จะดำเนินการพิจารณาและดูแลสวัสดิการพนักงานเก็บ/ขน และลากจูงขยะ ให้เหมาะสมกับภาระงาน ด้วยวิธีการทบทวนและแก้ไขระเบียบค่าตอบแทน และระเบียบ กทม. ว่าด้วยค่าตอบแทนแก่บุคคลภายนอกที่ช่วยปฏิบัติงานด้านงานบริการสาธารณะ พ.ศ. 2541 ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ป้องกันตรงการใช้งาน, ชุดปฏิบัติหน้าที่, ผ้าคลุมป้องกัน, หน้ากากอนามัย, ถุงมือ, เข่งขยะที่แข็งแรงทนทาน และรถเข็นเคลื่อนย้ายลากจูงขยะ

 

“ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ค่าตอบแทนเงินเดือน สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุ”

 

และจนมาถึงวันที่ผู้ว่าฯ รับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับพนักงานทั้ง 5 คน เป็นหนึ่งภารกิจย่อยในส่วนของ ‘ผู้ว่าฯ สัญจร’ ที่ชัชชาติได้มอบหมายให้แต่ละสำนักงานเขตคัดเลือกพนักงานที่ทำงานดี ขยัน อดทน เหมาะแก่การเป็นแบบอย่าง หรือพนักงานดีเด่น มาร่วมรับประทานอาหารมื้อกลางวันกับผู้ว่าฯ กทม. 

 

โดยพนักงานที่คัดเลือกมาจะอยู่ในส่วนของพนักงานกวาด, เก็บขยะมูลฝอย และสูบสิ่งปฏิกูลและระบายน้ำ จุดประสงค์หลักของกิจกรรมนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า กทม. ใส่ใจและยกย่องพนักงานเหล่านี้ว่ามีความสำคัญไม่ต่างกับส่วนงานอื่นๆ อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังปัญหาหน้างานจากผู้มีประสบการณ์ตรง

 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ในการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 16/2565 มีการพูดคุยถึงประเด็นการปรับระบบลูกจ้าง กทม. 3 ประเด็นหลัก คือ

 

  1. การปรับระดับชั้นงานของลูกจ้างประจำ ซึ่งมีเรื่องขยายกรอบเงินเดือนเพิ่มขึ้น 4 ตำแหน่ง

 

  1. ปรับมาตรการการเกษียณอายุราชการของลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว

 

  1. การปรับการกำหนดกรอบลูกจ้างประจำเพิ่มใหม่ ซึ่งในปี 2566 จะปรับใช้กรอบอัตราลูกจ้างประจำมาใช้กรอบอัตราลูกจ้างชั่วคราวแทนในบางส่วน เพื่อให้สามารถกำหนดกรอบอัตราลูกจ้างประจำเพิ่มใหม่ในปี 2566-2570

 

โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์สูญเสียครั้งนี้ ทางสำนักสิ่งแวดล้อมจะจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารสำนักงานเขต พนักงานกวาด พนักงานเก็บขยะ และพนักงานสวน เพื่อหารือเพื่อจัดทำแนวทางการทำงานที่ปลอดภัย เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X