×

สำรวจ ‘แมวจร’ ในกรุงเทพฯ อิสรภาพ กับปัญหาโครงสร้างระดับเมืองที่ต้องจัดการ

08.07.2022
  • LOADING...

‘89,269’ คือจำนวนของแมวที่ไม่มีเจ้าของในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จากการรวบรวมของกรมปศุสัตว์ที่จัดทำไว้เมื่อปี 2559 และเมื่อนับรวมกับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของด้วยแล้ว สัตว์ทั้งสองชนิดมีจำนวนมากถึง 141,455 ตัว ซึ่งตัวเลขนี้หากพิจารณาตามหลักธรรมชาติของการสืบพันธุ์ด้วยแล้ว ยอดจะเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นเท่าตัวในทุกปี

 

สุนัขและแมวจรมากกว่าครึ่งมีผลสำรวจระบุว่าพวกมันเคยมีเจ้าของ เคยน่ารักกับใครหลายคน แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเติบโตและเงื่อนไขของโรคภัยทำให้พวกมันไม่เป็นที่ต้องการและถูกปล่อยทิ้งไปตาม ‘ยถากรรม’

 

ใครจะคิดว่าวันที่สัตว์เหล่านี้ได้รับอิสรภาพในแบบที่พวกมันอาจไม่เคยต้องการ จะนำมาสู่ปัญหาโครงสร้างระดับเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนสุนัขและแมวจรจัดกลายเป็นปัญหาที่คนในท้องที่ต้องเจอ ทั้ง สิ่งปฏิกูลที่เรี่ยราด โรคระบาดที่แพร่กระจาย และการฉกฉวยหาโอกาสจากกลุ่มคนที่ใช้สัตว์เหล่านี้ทำมาหากิน

 

ปัญหานี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ‘แนวทางการจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาหมาแมวจร’ ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ว่า

 

ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะแม้กระทั่งในแอปพลิเคชัน Traffy Fondue มีข้อมูลการร้องเรียนเรื่องนี้ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายสูงถึง 90% เรื่องหลักคือแมว แมวเกิดการขยายพันธุ์ไวมาก แมว 1 ตัวสามารถออกลูกได้ 4 คอกต่อปี และใน 1 คอกเฉลี่ยแล้วสามารถออกลูกได้สูงถึง 4 ตัว

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2566 ที่ระบุไว้ว่า จะทำหมันแมว 1 หมื่นตัว ซึ่งถ้า 1 หมื่นตัวคิดแล้ว 50 เขตจะได้เขตละ 200 ตัว และถ้าคิดเป็นต่อเดือนจะมีเพียง 16 ตัวเท่านั้นที่ได้ทำหมัน แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำหมันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกำหนดเป้าไว้สูงกว่านี้ ถ้ามีเป้าหมายเพียงเท่านี้ปัญหาแมวจรจัด หรือสุนัขจรจัดจะไม่มีวันลดลง

 

นิภาพรรณยังกล่าวถึงปัญหาจากการขายแมว หรือสุนัขที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสัตว์จรจัด ซึ่งถ้าร้านเหล่านี้ไม่สามารถขายสัตว์ได้ตามเกณฑ์ บางร้านจะนำสุนัขและแมวไปปล่อยทิ้ง ในส่วนนี้จึงจำเป็นที่จะต้องหากฎหมายมาควบคุม รวมไปถึงเจ้าของด้วย หากมีการนำสัตว์มาทิ้ง 

 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาสัตว์จรจัดที่ดี นิภาพรรณกล่าวว่าคือการให้บริการวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และการทำหมัน ซึ่งการทำหมันสัตว์ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง เพราะวันที่สามารถควบคุมจำนวนสัตว์ได้ จำนวนน่าจะลดลงเรื่อยๆ รวมไปถึงการทำหมันจะช่วยทำให้การก้าวร้าวน้อยลง สิ่งนี้จะช่วยลดเรื่องความรำคาญต่อชาวบ้านได้

 

และในอนาคตถ้าทำหมันแล้ว กทม. ก็ควรที่จะมีที่พักพิงให้สัตว์ด้วย เพื่อดูแลจนกว่ากระบวนการรักษาจะเสร็จสิ้น และอีกหนึ่งประเด็นคือ กทม. ควรเป็นเจ้าภาพในการหาบ้านให้เหล่าสัตว์จร เพราะนี่จะเป็นวิธีตัดตอนวงจรสัตว์จรได้มากที่สุด

 

ซึ่งวันนี้ (8 กรกฎาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ได้เป็นประธานในการประชุมภาคีเครือข่ายการแก้ปัญหาสุนัขและแมวจรจัดใน กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย), สมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิ The Hope Thailand

 

ทางเครือข่ายเสนอให้นำข้อมูลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของแต่ละองค์กรมารวมกันเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูล เนื่องจากที่ผ่านมาสมาคมหรือมูลนิธิอาจดำเนินการโดยไม่ได้ประสานความร่วมมือกัน ทำให้ไม่ทราบข้อมูลในภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งหารือการกำกับดูแลฟาร์มจำหน่ายและผู้เลี้ยงโดยการลงทะเบียน การขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว การฝังชิปเพื่อตรวจสอบหาเจ้าของ การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า การทำหมัน และที่พักพิงชั่วคราว 

 

โดยเสนอให้ กทม. เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งกำหนดแนวทางหรือกติกาการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งสำนักอนามัย กทม. ได้รับพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อ โดยจะมีการจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X