×

ผอ.สสน. คาด กทม. มีโอกาสน้ำท่วมในระยะสั้น แนะประชาชนสังเกต อย่าให้ทางระบายน้ำอุดตัน

โดย THE STANDARD TEAM
27.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (27 สิงหาคม) สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำเหนือกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจากจังหวัดสุโขทัย โดยทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดการณ์ว่าน้ำจะมาถึงพื้นที่ กทม. ภายในวันที่ 2 กันยายนนี้

 

THE STANDARD สัมภาษณ์พิเศษ ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) หรือ สสน. ถึงความเป็นไปได้ที่น้ำจะท่วมพื้นที่ กทม. และแนวทางการเตรียมตัวรับมือของประชาชน

 

“เราต้องยอมรับความจริงว่า กทม. ก็มีโอกาสท่วมด้วยตัวเขาเองอยู่แล้ว แต่ก็เป็นระยะสั้นๆ” ดร.รอยบุญ กล่าว

 

ดร.รอยบุญ เปรียบเทียบกับกรณีเมื่อวานที่มีฝนตกกระจุกในจังหวัดอุดรธานี ส่งผลให้น้ำท่วมตัวเมือง แต่ก็ไม่มีใครทราบ เพราะความสนใจขณะนี้อยู่ที่ภาคเหนือ เปรียบเทียบกับ กทม. ต้องมีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างที่จะบริหารระบบปั๊ม หลายจุดก็ยังมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ บางครั้งประตูก็ใช้การไม่ได้

 

“เรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนน้ำมาน่าจะสำคัญมาก รวมทั้งอุปกรณ์ปั๊มน้ำ ไม่ใช่มาซ่อมกันในวินาทีสุดท้าย”

 

ดร.รอยบุญ อธิบายว่า กทม. มีสภาพเป็น Heat Dome (โดมความร้อน) อยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่จะเกิดฝนตก ปัจจุบันนี้เห็นได้ชัดว่าฝนตกหนักเกิน 150-200 มิลลิเมตร เกิดขึ้นทั้งประเทศ อย่างที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านก็ 408 มิลลิเมตร และเกิดขึ้นในอีก 8 อำเภอ แน่นอนที่สุดว่าย่อมเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

 

“นี่เป็นผลจาก Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) จะเห็นได้ว่าฝนตกหนักทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ ในเวลาเดียวกัน ชัดมากๆ ว่า Climate Change คนที่ต้อง Change คือพวกเรา”

 

ดร.รอยบุญ มองว่าในปัจจุบันที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ อยากให้ช่วยสื่อสารและติดตามตำแหน่ง สร้างความพร้อมให้กับตัวเอง เช่น สังเกตทางระบายน้ำในบริเวณที่พักอาศัยว่ามีขยะหรือสิ่งอุดตันหรือไม่ จะทำความสะอาดกันเองอย่างไร ต้องเริ่มจากตัวเรา ไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือมาถึงก่อน

 

“พื้นที่ กทม. น่าจะท่วมในช่วงสั้นๆ เพียงแต่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณเสี่ยงเริ่มรู้แล้วว่าจะท่วม ถนนอาจต่ำ ปั๊มอาจเสีย ซึ่งตอนนี้ผู้ว่าฯ กทม. ก็ประกาศจุดเสี่ยงชัดแล้ว อย่างเช่น ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงฝนตกหนักเราก็จะรู้ว่าไม่ควรขับเลนนอก ควรขับเลนด้านใน เพราะน้ำจะล้น ทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับตัวหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น”

 

ดร.รอยบุญ แนะนำว่า จากข้อมูลของ สสน. จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยในการเตรียมรับมือน้ำท่วมของประชาชนได้ ทั้งในเว็บไซต์ https://www.thaiwater.net/ รวมถึงแอปพลิเคชัน ThaiWater จะแสดงผลให้เห็นว่าตรงไหนน้ำล้นตลิ่ง ตรงไหนที่ปริมาณน้ำฝนตกมากเกิน 24 ชั่วโมง และแบ่งระดับเป็นสีแดงและส้ม

 

อย่างไรก็ตาม ดร.รอยบุญ ย้ำว่า ยังไม่อาจวางใจเรื่องสถานการณ์น้ำในประเทศไทย และยังต้องติดตามกันต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายนและตุลาคม เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก โดยสามารถติดตามได้จากการรายงานและคาดการณ์ของ สสน.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X