×

กทม. ได้รับวัคซีนโควิด-19 เดือน มิ.ย. นี้ 1 ล้านโดส จากแผนเดิม 2.5 ล้านโดส แพทย์เป็นผู้พิจารณาใครได้ฉีด AstraZeneca หรือ Sinovac

02.06.2021
  • LOADING...
กทม วัคซีนโควิด-19

วันนี้ (2 มิถุนายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่า เดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนแห่งการกระจายและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งขอให้คำยืนยันและสรุปสั้นๆ ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่นายกรัฐมนตรีได้เคยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปปฏิบัติ ส่วนข่าวต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ขอให้ประชาชนเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขให้มากที่สุด เพราะเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติ ควบคุมการจัดส่งวัคซีน ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนมีมาตลอด เมื่อวานนี้ (1 มิถุนายน) ก็กระจาย 1.1 ล้านโดส ทั้ง Sinovac และ AstraZeneca กระจายไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีน AstraZeneca ที่กระจายไปแล้วเป็นล็อตที่ผลิตจากแหล่งใด อนุทินกล่าวว่า เราทำสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด เพราะฉะนั้น วัคซีนที่ได้มาจะมาจากที่ไหนก็ตามนั่นก็คือวัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งมีทั้งที่ผลิตในประเทศไทยหรืออาจจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับ Supply Chain ในการที่จะจัดส่งมา ส่วนตัวเลขจำนวนวัคซีนนั้น ทางบริษัท แอสตร้าเซเนก้า จำกัด จะเป็นผู้แถลง

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าวัคซีน AstraZeneca ที่มามีจำนวนน้อย อนุทินกล่าวว่า คนไหนพูดว่าน้อยเกินไปก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ฟังที่กระทรวงสาธารณสุขพูด กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคจะต้องทำความตกลงกับบริษัท โดยดูจากทักษะความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทย ความสามารถในการผลิตของบริษัท คือเอาความสามารถของทั้ง 2 ฝ่ายมาคุย แล้วตกลงกันว่าแต่ละเดือนจะใช้วัคซีนเท่าไร จากนั้นก็ทยอยส่งเป็นรายสัปดาห์ แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ดีของทั้งสองฝ่าย

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีนเป็นไปตามนโยบายของ ศบค. เริ่มจากหารเท่ากันทุกจังหวัดก่อน จังหวัดที่มีระบาดเยอะได้เยอะ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จะได้เยอะ และดูตามพื้นที่จำเพาะตามนนโยบาย เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวภูเก็ต ซึ่งอัตราฉีดเยอะสุด โดยฉีดได้ 50% ของเป้าหมาย หรือชลบุรี พัทยา เกาะสมุย จะได้เพิ่มเติม โดยการจัดสรรขึ้นกับวัคซีนที่เรามีและความต้องการในการฉีด ต้องปรับตามสถานการณ์ ดังนั้น ทุกจังหวัดจึงมีวัคซีน โดยจังหวัดไหนไกลขนส่งลำบากจะส่งไปก่อน เมื่อส่งวัคซีนไปแล้วจะติดตามดูสต๊อก หากจังหวัดที่ได้ไปเยอะแต่ฉีดได้น้อย เราก็ไม่ส่งไปต่อ จนกว่าจะฉีดเสร็จ เป็นต้น 

 

ส่วนแต่ละพื้นที่จะเป็น Sinovac หรือ AstraZeneca จะปรับตามความเหมาะสม บางพื้นที่ฉีด Sinovac เข็ม 1 ไปเยอะ เขาจะแจ้งเรามา ถ้าให้ AstraZeneca ไปเยอะก็ไม่เหมาะสม แต่ทั้งสองตัวใช้ได้เพราะไม่แตกต่างกัน ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ข้อบ่งชี้ไม่ต่างกัน แต่การฉีดจะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ

 

ส่วนพื้นที่ กทม. ได้รับการจัดสรรเท่าไรนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า กทม. ตามที่ ศบค. กำหนด เดือนมิถุนายนประมาณ 1 ล้านโดส หารือผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. แล้ว จะทยอยส่งเป็นรายสัปดาห์ ถ้าหมดก็ส่งเพิ่ม 

 

ส่วนเรือนจำเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมแจ้งยอดมาแล้ว ก็ได้หารือปรึกษากับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่ากลุ่มไหนควรฉีดก่อนฉีดหลัง อย่างเรือนจำที่ติดเชื้อมากก็ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด ส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้ว ต้องรอ 3 เดือนค่อยฉีด โดยจะเน้นเรือนจำที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อป้องกันล่วงหน้า

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ในวันแถลงข่าวเปิดตัวระบบลงทะเบียนฉีดวัคชีนป้องกันโควิด-19 ‘ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย’ ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรให้ กทม. ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เดือนละ 2.5 ล้านโดส ถ้าจัดสรรมาให้ได้ 2.5 ล้านโดสต่อเดือน เราก็สามารถฉีดให้ได้ทั้งหมด ซึ่งการบริหารจัดการจะโอนอ่อนไปตามสถานการณ์ วัคซีนได้มาเท่าไร เราก็ฉีดได้เท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X