×

ชัชชาติแถลงแผ่นดินไหว กทม. เสียหายรุนแรง 3 จุด เสียชีวิต 3 ราย ประชาชนกลับเข้าอาคารได้แล้ว ขออย่าตื่นตระหนก

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2025
  • LOADING...
bangkok-quake-damage-update

วันนี้ (28 มีนาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงถึงสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครปัจจุบันหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 13.20 น. มีสถานที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงทั้งสิ้น 3 จุด

 

  1. อาคาร สตง. 33 ชั้น ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในเขตจตุจักร ซึ่งมีพนักงานภายในทั้งสิ้น 83 คน ได้ทรุดตัวและถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2 ราย คาดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด

 

  1. เครนที่ใช้ในการก่อสร้างคอนโดย่านดินแดงถล่มลงไปพาดกับทางด่วนดินแดง ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ส่งผลกระทบต่อการจราจร แต่ขณะนี้เปิดใช้บริการได้ตามปกติแล้ว

 

  1. อาคารนั่งร้านถล่มย่านบางโพ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

 

ส่วนจุดอื่นๆ จะเป็นความเสียหายที่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่อาคารแตกร้าว ซึ่งก็มีการตรวจสอบความมั่นคงทางอาคารต่อไป ส่วนกรณีกระข่าวสะพานภูมิพล 1 และ 2 สลิงขาดนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง อาจจะมีรอยแตกร้าวบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องประเมินหลังจากนี้คืออาคารที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง ส่วนอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้วยังไม่ได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์อาคารถล่ม โดย กทม. ขอยืนยันว่าประชาชนสามารถกลับเข้าไปยังอาคารได้ แต่ขอให้มีการสำรวจอาคารก่อนว่ามีรอยแตกร้าวอย่างรุนแรงที่อยู่ในบริเวณคานของอาคารหรือไม่

 

ส่วนสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อกนั้นยังไม่ได้มีการยืนยัน เพราะไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และอาฟเตอร์ช็อกนั้นมีเหตุการณ์ที่รุนแรงน้อยกว่าสถานการณ์ก่อนหน้านี้

 

ชัชชาติยืนยันว่าอาคารในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอาคารใหม่มีการก่อสร้างที่จะต้องรองรับแผ่นดินไหวได้ ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครนั้นได้อพยพผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน โดยให้แนวทางในแต่ละเขตเข้าไปช่วยดูแลโครงสร้างของอาคารโรงพยาบาลว่ามีความเสียหายหรือได้รับความรุนแรงหรือไม่ ทั้งนี้ หากเสียหายไม่รุนแรงให้กลับสู่พื้นที่อาคารได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้กลับบ้านไปก่อน

 

ขณะที่การจราจรนั้น เนื่องจากขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟฟ้า BTS และ MRT ได้ปิดให้บริการเพื่อความปลอดภัย โดยจะมีการตรวจสอบระบบการเดินรถเพื่อให้มั่นใจและจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง คาดว่า MRT จะสามารถใช้บริการได้ในเช้าวันพรุ่งนี้ ส่วน BTS ต้องตรวจสอบอีกครั้ง เนื่องจากโครงสร้างต่างกัน

 

ชัชชาติกล่าวว่า ได้ประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยเพื่อให้อำนาจผู้ว่าฯ หากเกิดเหตุการณ์อะไรก็จะทำให้เราสามารถประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนได้เพื่อขอความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่ามีเอกชนหลายรายติดต่อเข้ามา เช่น เครือข่ายโทรศัพท์ AIS ได้สอบถามว่าต้องการอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณมือถือเพื่อนำไปหาผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ได้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ ซึ่งตอนนี้ กทม. ได้ประสานกับ ปภ. ตลอดเวลา เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว ขอประชาชนไม่ต้องกังวล

 

เมื่อถามว่าพื้นที่อาคาร สตง. ที่เกิดการถล่มรุนแรงที่สุดจะต้องตั้งศูนย์บัญชาการโดยเฉพาะที่จุดนี้หรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งแล้ว โดยมีผู้อำนวยการเขตจตุจักรอยู่หน้างาน ร่วมกับ ปภ. แต่อาจจะลำบากเล็กน้อยเพราะการพังทลายของตึก เนื่องจากตึกมี 33 ชั้น ซึ่งเบื้องต้นเข้าใจว่ามีคนงานอยู่เกือบทุกชั้น เพราะกำลังตกแต่งด้านใน

 

ดังนั้นการรื้อคงต้องค่อยเป็นค่อยไป การเอารถเครนรถตักเข้าไปจะต้องดูว่ามีผลกระทบต่อผู้รอดชีวิตหรือไม่ ส่วนพื้นที่บริเวณเขตดินแดงต้องดูรายงานอีกครั้ง และบริเวณถนนพระราม 2 ตอนแรกมีข่าวว่าถนนทรุด แต่ได้รับรายงานแล้วว่าไม่มีอะไรผิดปกติ

 

ส่วนผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บขณะนี้มีโรงพยาบาลใดรับไปดูแล ชัชชาติกล่าวว่า ใครใกล้โรงพยาบาลไหนก็ส่งโรงพยาบาลนั้น พร้อมย้ำว่าตอนแรกที่เกิดเหตุการณ์เราก็รู้สึกว่ามันสั่นไหวมาก เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ในชีวิต ยังกังวลว่าจะมีความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่พอได้รับรายงานแล้วพบว่าความเสียหายอยู่ในวงจำกัด ซึ่งอาคารก่อสร้างของเราก็มีมาตรฐานที่ดีระดับหนึ่ง เรามีกฎหมายเรื่องแผ่นดินไหวมาหลายปีแล้ว

 

ชัชชาติกล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่ามาตรฐานการก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งเห็นว่าอาคารพังเป็นอาคารที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากระบบต่างๆ ยังไม่ครบถ้วน แต่ตนเชื่อว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงเหมือนที่ประเมินไว้ตอนแรก

 

ขณะที่ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เราได้ติดตั้งเซ็นเซอร์แผ่นดินไหวกรณีเมื่อเกิดเหตุจากที่อื่นและส่งผลกระทบมายังพื้นที่กรุงเทพฯ การติดตั้งนี้จะทำให้เรารู้ข้อมูลว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่ออาคารในกรุงเทพฯ มากน้อยขนาดไหน

 

ชัชชาติกล่าวเสริมว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก กรุงเทพฯ ประกาศแล้วว่าขณะนี้สามารถเข้าไปยังพื้นที่อาคารได้แล้ว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าบริเวณสะพานข้ามแยก สะพานข้ามแม่น้ำ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีความเสียหายหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย ต้องไปดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าอาคารที่มีการสร้างก่อนปี 2550 จะต้องมีการตรวจสอบหรือไม่ วิศณุกล่าวว่า จะต้องไปตรวจสภาพด้วยสายตาก่อน ขณะที่ชัชชาติกล่าวว่า อาคารก่อสร้างมีการออกแบบเผื่อการรับแรงไว้อยู่หลายด้าน มองว่าเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนของจริง ยืนยันได้ 100% ว่าอาคารที่สร้างเสร็จแล้วไม่มีปัญหา แต่เราไม่ประมาท

 

ชัชชาติกล่าวยืนยันว่า โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ส่วนโรงพยาบาลอื่นหากไม่มั่นใจสามารถร้องขอมาที่ กทม. ได้ ส่วนการแจ้งเตือนผ่านระบบข้อความโทรศัพท์ที่ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่มีการแจ้งเตือนทั้งที่กรุงเทพมหานครและรัฐบาลพยายามผลักดัน แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้อยู่แล้ว ไม่เหมือนเหตุพายุหรือฝนตก และการรวบรวมข้อมูลไม่ง่าย ซึ่งเมื่อรู้ข้อมูลก็ประกาศเตือนภัยทันที ทั้งนี้ จะนำไปปรับปรุง ตนมองว่าหัวใจของการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่การรับมือเมื่อเกิดเหตุ ดังนั้นจะค่อยๆ มีคำแนะนำทยอยออกมา และจะนำเรื่องนี้เป็นบทเรียน

 

ส่วนในอนาคตจะมีการผลักดัน ให้ซ้อมแผนเผชิญเหตุมากขึ้นหรือไม่ อาจจะต้องลงรายละเอียด จะขอรับไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า คงต้องอยู่ด้วยกันทั้งคืน มีอะไรจะทยอยอัปเดต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising