จากกรณีที่ทีมข่าว THE STANDARD เปิดพื้นที่ให้เสนอมุมมองความคิดเรื่องทางเท้า (ฟุตปาธ) โดยสอบถามในหัวข้อ ‘ขอ 1 ไอเดียแก้ปัญหาทางเท้า กทม.’ ตั้งแต่วานนี้ (23 มกราคม) เวลา 13.10 น.
วันนี้ (24 มกราคม) เวลา 17.10 น. ทีมข่าว THE STANDARD ได้รวบรวมผล พบว่ามีผู้แชร์โพสต์สำรวจไอเดียจำนวน 46 ครั้ง กดแสดงความรู้สึกถูกใจ (กด Like) 671 ครั้ง มีผู้แสดงความคิดเห็นรวม 152 รายการ ในที่นี้มี 94 รายการที่แจกแจงการแก้ไขปัญหา โดยแบ่งตามลำดับต่อไปนี้
อันดับที่ 1 จำนวน 32 ราย ระบุว่าการแก้ปัญหาทางเท้าและหาบเร่แผงลอยต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพ โครงสร้างฟุตปาธ การควบคุมงานตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง และการใช้กฎหมายเข้าควบคุมเพื่อจัดระเบียบผู้ค้า
ในความเห็นจาก 32 ราย มีแนวทางที่น่าสนใจว่า ปัญหาทั้งหมดนี้อาจเริ่มมาจากการคอร์รัปชันและการละเลยของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีส่วนทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขจนแล้วเสร็จ อีกส่วนหนึ่งสะท้อนว่าเรื่องจิตสำนึก คือเรื่องที่ผู้ใช้ทางเท้าควรคำนึงถึงไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม
อันดับที่ 2 การปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของทางเท้า จำนวน 26 ราย ระบุว่าปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้โดยปรับพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการใช้งานของทุกฝ่าย ทางคนเดินต้องเอื้อต่อการเดิน ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ พื้นเรียบ ส่วนทางขายของต้องมีขอบเขตกำหนดห้ามจอดรถ เพื่อที่จะไม่กินพื้นที่ไปอีกทอด และมีสัญลักษณ์กำหนดชัดเจนในการใช้ทางเท้าร่วมกัน
อันดับที่ 3 การบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบให้เข้มข้นขึ้น จำนวน 26 ราย ต้องการให้ประกาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการระบุบทลงโทษที่จริงจังกับผู้ใช้ทางเท้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้า เพื่อที่จะสามารถควบคุมให้ทุกคนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ละเมิดพื้นที่สาธารณะ
ในที่นี้แบ่งย่อย 5 รายที่มองว่า ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการควบคุมรถจักรยานยนต์ที่ขับบนทางเท้าจนเกิดความเสียหายของทาง และอันตรายกับผู้ที่เดินสัญจร
อันดับที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ ของ กทม. จำนวน 8 ราย มองว่าเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดในพื้นที่ต้องปฏิบัติงานอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ใส่ใจรับฟัง เป็นคนกลางของทั้งหน่วยงานในสังกัดและประชาชน มีความชำนาญในการแก้ไขปัญหา สถานการณ์
อันดับที่ 5 การทำประชามติ จำนวน 2 ราย คิดเห็นว่าการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมาแลกเปลี่ยนความต้องการร่วมกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหา เพราะจะได้พูดคุยถึงความถูกต้อง วัดน้ำหนักกับความต้องการ อีกทั้งเป็นการให้โอกาสผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เลือกทางแก้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วยตัวเอง