วันนี้ (7 มกราคม) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด และความปลอดภัยของนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา
สำนักการศึกษา กทม. จึงปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด จำนวน 109 โรงเรียน จากรูปแบบ On-site เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Online ตั้งแต่วันที่ 7-16 มกราคม 2565 หรือจนกว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น โดยกำหนดแผนและแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน รวมถึงประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีน Pfizer ให้แก่นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา กลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 16,391 คน ในเดือนมกราคม 2565 และกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยให้สำนักอนามัยดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขยายขอบเขตข้อบ่งใช้ของวัคซีน สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี จากเดิมที่ให้มีการฉีดได้ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยการฉีดวัคซีน Pfizer แก่เด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ และลดปริมาณวัคซีนลงเหลือ 10 ไมโครกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนที่ฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะห่าง 21 วัน จากเข็มที่ 1 เพื่อฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของเด็ก และผู้ปกครองต้องให้การยินยอม