×

กทม. แจง Car Free Day บรรทัดทอง ไม่ใช้งบประมาณและออร์แกไนเซอร์ สีจากสปอนเซอร์ไม่ลื่น-ล้างออกได้

โดย THE STANDARD TEAM
25.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 กันยายน) เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีการจัดการจราจร Car Free Day บนถนนบรรทัดทอง ตามที่สังคมตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ จึงขอชี้แจงดังนี้ เรื่องการผลาญงบประมาณ ซึ่งข้อเท็จจริงคือกิจกรรมนี้สำเร็จได้เพราะความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาควิชาการ, ภาคประชาสังคม, ผู้ค้า, ชุมชน และประชาชน กรุงเทพมหานครเป็นเพียงแกนกลางประสานในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ โดยไม่ได้ใช้งบจัดกิจกรรมแม้แต่บาทเดียว กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนสีจากบริษัทเอกชน ไม่ใช่สีทาถนน เพราะตั้งใจให้ล้างออกง่าย เพื่อคืนสภาพถนนที่สมบูรณ์ให้ประชาชนใช้งานตามปกติ ย้ำไม่ได้ลาดยางมะตอยทับ แต่จุดใดที่ควรซ่อมแซมก็จะดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

 

เอกวรัญญูกล่าวต่อว่า การทาสีถนนเป็นการทดลองลดขนาดถนน (Street Diet) และการเดินข้ามถนนทแยงมุมเป็นการทดลองโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม สิ่งนี้สำคัญมากต่อการดำเนินนโยบายเพื่อเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต และสิ่งสำคัญที่สุดคือเป้าหมายของกิจกรรม โดยกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายระยะสั้นคือ การทดลองทำถนนคนเดิน (ส่วนหนึ่งของกิจกรรม Bangkok Car Free 2024) พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ, จัดระเบียบทางเท้าและร้านค้า และสร้างกิจกรรมนันทนาการ เป้าหมายระยะยาวคือแผนพัฒนาย่านบรรทัดทองที่ประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกัน ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังวิเคราะห์แบบสอบถามจากประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็น และกำลังรวบรวมบทสนทนาของผู้ค้า ชุมชน รวมถึงประชาชน เพื่อเตรียมขยายผลสู่การพัฒนาย่านอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการทาสี การเลือกใช้สีผิดประเภทที่อาจทำให้รถยนต์ลื่นและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครได้ข้อมูลแนะนำจากช่างเชี่ยวชาญของบริษัทผู้สนับสนุน ขอใช้พื้นที่นี้ในการชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จุดประสงค์ของการทาสีคือการทดลองลดเลนถนน (Street Diet) และการเดินข้ามถนนทแยงมุมในเวลากลางวัน

 

เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น ทีมงานได้ล้างสีออกทั้งหมด สีที่ใช้จึงไม่อยู่คงทนตลอด และได้ขอคำปรึกษากับช่างเทคนิคของบริษัทผู้บริจาค รวมทั้งเลือกสีชนิดนี้ก่อนมาใช้ เนื่องจากสีดังกล่าวเป็นสีทาอาคารไม่ใช่สีทาถนน ซึ่งมีลักษณะปกป้องพื้นผิวประเภทอาคาร มีฟิล์มที่บางกว่าสีจราจรอย่างมาก และไม่ทนต่อแรงเสียดทานในการบดอัดของล้อยานพาหนะที่จะเสื่อมสภาพ นอกจากนี้ผิวฟิล์มยังหลุดล่อนได้ง่ายและไม่ทนต่อความชื้นของพื้นผิวถนนที่จะเสื่อมสภาพในเวลาอันรวดเร็ว และทางทีมงานได้ล้างออกทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน

 

กรณีสีมีพิษ จากข้อมูลของบริษัทผู้บริจาคระบุว่า สีชนิดนี้เมื่อแห้งจะเป็นแผ่นฟิล์มและจะถูกกรองได้ ไม่ละลายลงแหล่งน้ำ รวมถึงเป็นสีที่มีมาตรฐานซึ่งได้รับฉลากเขียวจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อย่างไรก็ตาม จะขอนำความคิดเห็นนี้ไปพัฒนาต่อและจะระวังไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครขอน้อมรับทุกความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising