วันนี้ (1 มิถุนายน) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 31) มีรายละเอียดระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 29 ) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 โดยให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศ กรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นั้น
เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นไปตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 29 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
- ให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
- กรณีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 ขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ให้ปฏิบัติตาม (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 และกรณีขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ให้ปฏิบัติตาม (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นข้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564
สำหรับการออกประกาศฉบับดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม) ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2564 เห็นชอบให้ผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการบางประเภท โดยสถานประกอบการที่ได้รับการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้เปิดได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ดังนี้
- พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถาน และหอศิลป์ ทั้งนี้ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามเข้าเยี่ยมชมเป็นกลุ่มคณะที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก
- สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ ทั้งนี้ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น หากพบการติดเชื้อในสถานบริการจำพวกนี้ ให้ปิด 14 วัน
- สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม
- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม) สถานประกอบการนวดแผนไทย (งดเว้นการอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำ และการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า
- สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้ ทั้งนี้ให้เปิดภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามไม่ให้มีการนั่งรวมกลุ่ม และไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทาน ยกเว้นน้ำดื่ม
ต่อมาในช่วงค่ำวันเดียวกัน สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร วันนี้ (31 พฤษภาคม) มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท โดยจะให้เริ่มเปิดกิจการภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ให้ใช้ประกาศกรุงเทพมหานคร ขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ