วันนี้ (5 มิถุนายน) ที่ถนนสีลม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมงานเดินขบวนนฤมิตไพรด์ ที่จัดโดยคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์และกลุ่มขับเคลื่อนรณรงค์ความหลากหลายทางเพศ ทั้งภาคเอกชนและประชาชน
ซึ่งเริ่มจัดขบวนตั้งแต่หน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก ไปจนถึงบริเวณซอยสีลม 2 สำหรับบรรยากาศในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมขบวนและรอชมขบวนริมฟุตปาธ
ในขบวนมีกลุ่มผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์, มิสแกรนด์ไทยแลนด์, นักแสดงซีรีส์, กลุ่มสวิง, กลุ่มมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และกลุ่มพรรคการเมือง เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ร่วมขบวนด้วย
ชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เดินทางมาร่วมงานในฐานะประชาชนคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง มองว่าเป็นขบวนพาเหรดที่สนุกสนาน ได้เห็นเพื่อนๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เห็นความเข้าอกเข้าใจ ความใส่ใจของหลายคน สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี ส่วนตัวเตรียมสติกเกอร์สีรุ้งมา 1 อัน แต่เมื่อมาถึงมีเพื่อนๆ ช่วยติดให้
ชัชชาติกล่าวต่อว่าเราควรยอมรับความหลากหลาย สุดท้ายการยอมรับนี้ไม่ใช่แค่มิติเรื่องเพศ แต่เป็นมิติของความเข้าใจ ซึ่งอาจรวมไปถึงเรื่องการเมืองด้วย โดยยืนยันว่าเราสามารถแตกต่างอย่างหลากหลายได้ แต่อย่าทะเลาะกัน
ส่วนความคิดเห็นในส่วนของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม ซึ่งจะมีการลงมติในสภาสัปดาห์หน้า ชัชชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาใหญ่ของ กทม. ส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงาน แต่ส่วนตัวขอสนับสนุน เพราะเชื่อว่าการสมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรสได้สิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าการสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องของความหลากหลาย
การเดินขบวนวันนี้นอกจากมีเรื่องความเท่าเทียมแล้ว ยังมีกลุ่มคนเข้ามาร้องเรียนตนเรื่องอื่นด้วย เช่น การถูกบุกรุกไล่ที่ ซึ่งได้รับฟังปัญหาทั้งหมดแล้ว ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ปีหน้ามีการจัดกิจกรรมแบบนี้อีก ชัชชาติกล่าวว่า หัวใจของเรื่องนี้ กทม. ไม่ได้เป็นคนจัด งานลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ประชาชนต้องร่วมมือกัน เพราะฉะนั้น กทม. อาจไม่เข้าใจรายละเอียด แต่จะเป็นผู้ร่วมสนับสนุน แต่ในส่วนตัวเนื้อหาจะต้องมาจากประชาชนที่มีความหลากหลาย ซึ่งมีความเข้าใจเนื้อหามากกว่า
สำหรับประเด็นในส่วนว่า กทม. จะสามารถส่งเสริมความหลากหลายทางเพศได้อย่างไรนั้น ชัชชาติยืนยันว่า กทม. ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ข้าราชการลูกจ้างต้องยอมรับว่าคนเรามีความหลากหลายได้ ควรจะให้มีการแต่งกายตามเพศวิถี การให้บริการประชาชนต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การบริการทางสาธารณสุขและพื้นฐานทางจิตวิทยา กทม. ต้องให้บริการทุกอย่างอย่างเท่าเทียม
ส่วนจะมีการจัดระเบียบการแต่งกายหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่าระเบียบของ กทม. ปี 2564 มีอยู่แล้ว การคัดเลือกคนไม่ได้ดูตามเพศกำเนิด ไม่มีผลว่าจะหญิงหรือชาย การส่งเสริมความเท่าเทียมจะต้องเริ่มจากตัวเราต้องเข้าใจความแตกต่าง
ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าโรคฝีดาษลิงจะระบาดหลังจากการจัดกิจกรรม ชัชชาติกล่าวว่าต้องดูเหตุผลก่อน ในตัวกิจกรรมเองได้ย้ำเตือนมาตรการแล้ว ซึ่งหลายกิจกรรมก็ไม่ได้มีความหนาแน่นมากนักและประชาชนก็ระวังตัวเอง ซึ่งทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมก็ต้องรับผิดชอบตนเองด้วยเช่นกัน
ส่วนการประชุมสภากรุงเทพมหานครในวันพรุ่งนี้ (6 มิถุนายน) ที่มี พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ชัชชาติกล่าวว่ายังไม่มีรายละเอียดเป็นพิเศษในการพูดคุย ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการสั่งการอย่างไร