×

กทม. มีมติยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฯ คดีป้าทุบรถ ยืนยันไม่จ่ายเงินเยียวยาเพียงฝ่ายเดียว

30.05.2018
  • LOADING...

วันนี้ (30 พ.ค.) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม. เตรียมส่งรายละเอียดทั้งหมดให้อัยการพิจารณาอุทธรณ์ประเด็นต่างๆ กรณีศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ หรือป้าทุบรถ และพวกรวม 4 คน ชนะคดี ให้รื้อถอนตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร.9

 

ขณะที่ นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองว่า ได้พิจารณาใน 3 ประเด็นคือ

 

1. ส่วนของสำนักการโยธาที่ต้องใช้หนังสือรับรองการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ เพื่อขอใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งจากการตรวจสอบแล้ว สำนักการโยธาได้พิจารณา และใช้อำนาจดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยยึดประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 พ.ศ. 2530 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งคู่มือปฏิบัติของราชการและกรมที่ดิน ซึ่งไม่ได้ห้ามก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ ไม่เหมือนกับโครงการที่ 1 ที่ระบุว่าจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น

 

2. สำนักงานเขตประเวศ ได้บังคับใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.) พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขฉบับเพิ่มเติม 2535 2.) พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ 3.) พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งยืนยันว่าสำนักงานเขตประเวศได้ดำเนินการตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ

 

3. เรื่องค่าเสียหาย ซึ่งศาลฯ มีคำสั่งให้จ่ายเงินเยียวยารวมทั้งหมด 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้หากพิจารณาในฐานความผิดละเมิด กทม. จะไม่รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะหากพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว พบมีผู้ละเมิดร่วมด้วย คือผู้ที่จอดรถขวางหน้าบ้าน และเจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่ง

 

ดังนั้นจะให้ กทม. รับผิดชอบค่าเสียหายเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ อีกทั้งการคำนวณจำนวนเงินของศาลคิดรวม 365 วัน ตลอดระยะเวลา 7 ปี แต่ตลาดเปิดขายจริงเพียงเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น นับ 1 ปีมีเพียง 102 วัน ดังนั้นหากจะให้ กทม. รับผิดชอบค่าเสียหาย กทม. ยินดีจ่ายเงินเยียวยาให้ แต่ต้องมีการแบ่งสัดส่วนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

 

ทั้งนี้จะเสนอแนวทางการอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบ ก่อนเสนออัยการพิจารณาในการอุทธรณ์ทั้ง 3 ประเด็น ก่อนวันที่ 15 มิถุนายนนี้

 

ขณะที่ผลการพิจารณาความผิดทางวินัยนั้น นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า พบความผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีบทลงโทษว่ากล่าวตักเตือน ตัดเงินเดือน อาจจะ 1-3 เดือนและลดขั้นเงินเดือน เบื้องต้นมีข้าราชการเกี่ยวข้อง 5 ราย ได้แก่ อดีตผู้อำนวยการเขตประเวศและคนปัจจุบัน หัวหน้าฝ่ายโยธาเขต หัวหน้าฝ่ายอนามัย รวมถึงหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X