“กำลังตักขยะในน้ำอยู่ คนก็โยนขยะข้ามหัวมาเลย แล้วเขาก็บอกว่าคุณมีหน้าที่ทำก็ทำไป เราก็บอก ครับ”
ตุ้ม ปิโย หัวหน้าพนักงานทั่วไป กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เล่าประสบการณ์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เก็บขยะตามคูคลองต่างๆ ขณะคุมเจ้าหน้าที่เก็บขยะจากแพไม้ไผ่ดักขยะบริเวณคลองลาดพร้าว ใต้ทางด่วนท้ายวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
พื้นที่ดังกล่าวเป็นหน้าด่านสกัดขยะก่อนไหลไปถึงสถานีอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 และถือเป็นจุดที่ดักขยะได้มากที่สุดของกรุงเทพฯ เฉลี่ยขั้นต่ำวันละ 1 ตัน และในวันที่ฝนตกอาจมีขยะไหลมารวมกันได้ถึง 10 ตัน ส่วนใหญ่พบว่า 90% เป็นขยะครัวเรือน
ที่แพไม้ไผ่ดักขยะบริเวณคลองลาดพร้าวแห่งนี้ ทีมงาน THE STANDARD พบขยะสารพัดชนิด บางชนิดแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนทิ้งลงน้ำได้
ฟูกที่นอนและโซฟากลายเป็นขยะขาประจำที่เจ้าหน้าที่คุ้นชิน เจ้าหน้าที่บอกว่าขยะในคลองลาดพร้าวส่วนใหญ่เป็นของใช้ภายในบ้านเรือน โดยเฉพาะซากเฟอร์นิเจอร์ พบว่าลอยมาติดไผ่ดักขยะแล้วแทบทุกชนิด
เจ้าหน้าที่จะทำการดักขยะเหล่านี้ โดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ เพื่อไม่ให้ไหลไปถึงอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 เพราะจะทำให้การระบายน้ำล่าช้า
ขณะที่สถิติการจัดเก็บขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เฉพาะหน้าสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำ พบขยะชิ้นใหญ่จำนวนมาก เช่น ที่นอน โซฟา ยางรถยนต์
โดยกรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บขยะบริเวณหน้าสถานีสูบน้ำได้เฉลี่ยวันละประมาณ 20 ตันต่อวัน ซึ่งขยะเหล่านี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังเป็นต้นตอของปัญหามลภาวะ กลิ่นเหม็น และน้ำเน่าเสีย โดย สมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่ากรุงเทพฯ มีคลองที่อยู่ในการดูแลทั้งหมด 1,682 คลอง ความยาวประมาณ 2,600 กิโลเมตร โดยมีจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำรวม 305 จุด
สำหรับภาพรวมของพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ จะมีคุณภาพน้ำที่ดีกว่า แต่ในพื้นที่ชั้นในจะมีค่าความสกปรกในน้ำสูง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนและชุมชนจำนวนมาก เบื้องต้นกรุงเทพมหานครใช้วิธีการนำน้ำดีจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไล่น้ำเสียในคูคลองให้เจือจางลงเพื่อลดปัญหากลิ่นและสีของน้ำในคูคลอง ทั้งนี้ก็ได้แต่ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลอง เพื่อเป็นการร่วมดูแลรักษาคูคลองอีกทางหนึ่ง