×

เตรียมรับมือน้ำเหนือไหลเข้ากรุงเทพฯ ประสานเสียงบอกเอาอยู่ ไม่ซ้ำรอยปี 2554

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • กรุงเทพมหานคร (กทม.) ห่วงพื้นที่รอบนอกแนวเขื่อนกันน้ำ เนื่องจากน้ำเหนือมาเยอะและน้ำทะเลหนุนสูง ส่วนกรุงเทพฯ ชั้นในยืนยันไม่น่าห่วง
  • สถานการณ์อ่างเก็บน้ำยังน่าห่วงเพราะเต็มความจุเกือบหมด ขณะที่น้ำยังท่วมในหลายจังหวัด
  • กรมชลประทานยืนยัน สถานการณ์น้ำยังควบคุมได้ ไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

     ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องดูท่าจะเริ่มเป็นปัญหาน่ากังวล เมื่อฝนยังคงตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ล่าสุดว่า อิทธิพลจากมรสุมจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกไปจนถึงวันที่ 17 ตุลาคมนี้เป็นอย่างน้อย ขณะที่การวิเคราะห์จากแบบจำลองสภาพอากาศยังพบว่ามีโอกาสที่พายุจะก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็มีโอกาสที่ฝนจะตกลากยาวไปถึงปลายเดือนตุลาคม

     ทุกครั้งที่ฝนกระหน่ำ น้ำเหนือมาก และหลายพื้นที่มีน้ำท่วมเช่นนี้ คำถามที่มักจะเกิดขึ้นคือ น้ำจะท่วมเหมือนมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร

 

 

สำรวจแหล่งน้ำ 3 สาย ปัจจัยหลักน้ำท่วมกรุงเทพฯ

     พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการณ์เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ และตรวจเยี่ยมชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชี้แจงว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีที่มาของน้ำอยู่ 3 แหล่งประกอบกัน คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน โดยจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า

     ในส่วนของน้ำเหนือ กรมชลประทานแจ้งว่า จะเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระราม 6 เป็น 550-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดยจะขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ น้ำจะขึ้นสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1 เมตร 15 เซนติเมตร ขณะที่สภาพอากาศปัจจุบันฝนจะตกต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น และตกหนักบางแห่งในพื้นที่ กทม.

 

 

น้ำเหนือมามาก ห่วงบ้านเรือนนอกแนวเขื่อนกันน้ำ

     ผู้ว่า กทม. ชี้แจงว่า แม้ปริมาณน้ำเหนือและน้ำฝนจะมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง แต่ยืนยันได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมซ้ำรอยปี 2554 แน่นอน โดยประเมินจากอัตราการระบายน้ำ 2 แห่งสำคัญ คือ

     1. ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อปี 2554 สูงถึง 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ กทม. รองรับได้สูงกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เล็กน้อย

     2. อำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา สถานี C29A เมื่อปี 2554 ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยเกือบ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ กทม. รองรับได้ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

 

     ผู้ว่า กทม. ย้ำว่าปริมาณน้ำเหนือที่ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าว จะไม่กระทบสู่พื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในระดับ 2.5-3 เมตร เพื่อป้องกันน้ำทะลักสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ระยะทางรวม 77 กิโลเมตร ส่วนในจุดฟันหลอที่ยังไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนถาวรระยะทางยาวประมาณ 9 กิโลเมตร กทม. ได้นำกระสอบทรายมากั้นเป็นคันรับน้ำชั่วคราวพร้อมรับมือมวลน้ำเหนือไว้เรียบร้อยแล้ว แม้ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดในวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ ก็สามารถรองรับได้

     แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ บ้านเรือนประชาชนที่ก่อสร้างนอกแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 18 ชุมชน รวม 430 ครัวเรือน ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า ปริมาณน้ำได้เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ดังกล่าวบ้างแล้ว โดยทาง กทม. ได้ประชาสัมพันธ์ให้เตรียมตัวยกของขึ้นที่สูง ย้ายปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และจัดทำเส้นทางสัญจรให้แก่ชุมชนให้สามารถออกสู่พื้นที่อื่นได้อย่างสะดวก

 

 

สถานการณ์อ่างเก็บน้ำน่าห่วง เต็มความจุ 100 แห่ง

     สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ บางพระ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา และกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80-100% จำนวน 168 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 167 แห่ง และเต็มความจุ 100% จำนวน 100 แห่ง

     สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน หลังจากฝนตกหนักระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างขนาดใหญ่เต็มความจุแล้วประมาณ 2-3 แห่ง และอีกประมาณ 2 แห่งน่าจะเต็มเร็วๆ นี้ ส่วนภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปางมีน้ำเต็มอ่างแล้ว 2-3 แห่ง ส่วนเขื่อนภูมิพลมีความจุประมาณ 66% จึงสามารถดักน้ำที่ไหลจากภาคเหนือได้หมด กรมจึงได้ประสานไปยังฝ่ายปกครอง และประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ เนื่องจากต้องเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้น

 

 

กรมชลฯ ยัน เอาอยู่ ไม่ซ้ำรอยปี 2554

     ดร. ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลหลากลงมาจากพื้นที่ตอนบน ส่วนหนึ่งได้ใช้ระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งรับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกับใช้ประโยชน์จากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนบนบริเวณทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก หน่วงและชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้มากถึง 420 ล้านลูกบาศก์เมตร

     ส่วนในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ใช้ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 แห่ง ที่ประชาชนในพื้นที่ยินยอมให้นำน้ำเข้าไปเก็บพักไว้ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ปัจจุบันได้มีการนำน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในทุ่งแล้วรวม 930 ล้านลูกบาศก์เมตร (ความจุเก็บกักสูงสุดรวมกัน 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร) รวมแล้วพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น สามารถลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้มากถึง 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

กรมชลฯ สรุปภาพรวมน้ำยังท่วมหลายพื้นที่

     กรมชลประทานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดต่างๆ โดยลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ น้ำท่วม 1 อำเภอ คือ อำเภอหางดง น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมที่พักอาศัยและเส้นทางคมนาคม

     ลุ่มน้ำยม จังหวัดพะเยา เกิดฝนตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนในตำบลแม่ใส และชุมชนแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา ปัจจุบันเข้าสู่สถานการณ์ปกติ พื้นที่ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่น้ำท่วม 102,397 ไร่ ทั้งที่จังหวัดยโสธร ในอำเภอต่อวัง อำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอเมือง

     จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอพนมไพร จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดมหาสารคาม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง

     พื้นที่ลุ่มน้ำมูล น้ำท่วมพื้นที่ 56,000 ไร่ ในจังหวัดอุบลราชธานี กินพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขื่องใน และอำเภอวารินชำราบ

     พื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ น้ำท่วมอำเภอเมือง ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่สิงห์บุรี, ลพบุรี, อ่างทอง และอยุธยา ส่วนชัยนาทระดับน้ำเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising