×

กทม. พร้อมกรมโยธาธิการและผังเมืองนำทีมวิศวกรตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบวันนี้ เดินหน้ากู้ชีพช่วยผู้ที่ติดในตึกถล่ม

โดย THE STANDARD TEAM
29.03.2025
  • LOADING...
กรมโยธาธิการและผังเมือง

วันนี้ (29 มีนาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และตัวแทนจากสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แถลงความเคลื่อนไหวภายหลังจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 

 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หน้าที่หลักของวิศวกรคือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะอาคารที่สร้างเสร็จ 100% นั้นไม่มีการพังทลายออกมา มีเพียงรอยแตกร้าว นี่คือสิ่งที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งวันนี้ก็ฝากให้สภาวิศวกรฯช่วยไปตรวจสอบ และให้สภาวะกลับคืนสู่ปกติ ส่วนอาคารใดที่เสียหายรุนแรงก็ต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและซ่อมแซม

 

ด้านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อที่จะรับแจ้งในการตรวจสอบอาคาร มีสภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาที่จะร่วมกันดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ 

 

ระงับการใช้อาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี

 

ด้านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบอาคารใน 3 หน่วยงานที่เป็นโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎ และโรงพยาบาลเลิดสิน 

 

ขณะนี้มีอาคารของโรงพยาบาลราชวิถีที่จะต้องระงับการใช้งานทั้งอาคาร โดยเฉพาะ อาคารทศมินทราธิราช 20 ชั้นที่มีการกะเทาะแตกจนเห็นเหล็กซึ่งได้มีการประสานไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการประชุมในทีมของวิศวกร เพื่อวางแผนตรวจสอบอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ หรืออาคารที่รับแจ้งมา โดยวันนี้จะมีการลงพื้นที่ ซึ่งได้มีการประสานกับรองผู้ว่าฯ กทม. เพื่อที่จะประสานงานและทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน

 

แบ่งเป็น สีเขียว อาคารมีความปลอดภัย, สีเหลือง พบความเสียหายบางส่วนแต่พอใช้งานได้ และสีแดง พบความเสียหายรุนแรงและอาจมีการห้ามใช้อาคาร ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร

 

ส่วนอาคารขนาดใหญ่ และอาคารของเอกชน เช่น คอนโด ห้างสรรพสินค้า โรงแรมขนาดใหญ่ อาคารเหล่านี้มีการตรวจสอบตามกฎหมายทุกปีอยู่แล้ว จะมีผู้ตรวจสอบอาคารประจำที่เป็นวิศวกร ซึ่งทางกรมฯ ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของอาคารเร่งแจ้งผู้ตรวจสอบอาคารเข้าดำเนินการตรวจสอบ หากไม่เพียงพอหรือไม่พร้อมทางกรมฯมีบัญชีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน กว่า 2,600 ราย ก็สามารถจะดำเนินการในส่วนนี้ได้ ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดตั้งศูนย์เช่นเดียวกันกับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะต้องลงไปดูในพื้นที่ พร้อมกับผู้ดูแลอาคารที่เป็นช่างประจำอาคาร เพื่อให้รู้ข้อมูลความเสียหายจะได้ตรวจได้ตรงจุด และจะได้ระบุว่าอาคารมีความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งอาคารสาธารณที่มีความเร่งรัดต้องเปิดให้บริการจะมีทีมวิศวกรพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้นว่าต้องทำอย่างไร

 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จะสั่งการให้ตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ข้อดีที่เราใช้ Traffy Fondue ทำให้เห็นพิกัด GPS และรูปเบื้องต้น ทำให้ไม่ต้องลงพื้นที่ในทุกเคส สามารถวิเคราะห์และสกรีนอาคารเบื้องต้นได้ 

 

ขอประชาชนรอฟังความปลอดภัยก่อนเปิดอาคาร

 

จากนั้นผู้ว่าฯ กทม. ได้ร่วมปล่อยแถวรถเทศกิจ ซึ่งจะพาวิศวกรอาสาไปตรวจความปลอดภัยอาคารต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร พร้อมระบุว่า ภารกิจเร่งด่วนของ กทม. ขณะนี้มีอยู่ 2 เรื่อง ภารกิจแรก คือ การกู้ภัยบริเวณอาคาร 30 ชั้นที่ถล่มลงมา โดยยืนยันว่า กทม. จะยังเดินหน้าค้นหาผู้ที่ยังติดอยู่ค้างอยู่ภายในอาคารอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการยกเลิกการค้นหา แต่ต้องมีการปรับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสถานการณ์หน้างานโดยการนำเครื่องมือหนักเข้าไปค้นหา ทยอยนำเศษซากปรักหักพัง เพื่อที่จะเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาพบสัญญาณชีพเพิ่ม 15 ราย หลังจากนี้เดินหน้าต่อเต็มที่ ห้ามหยุด ห้ามช้า ลุยเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตคนให้ได้มากที่สุด 

 

ส่วนภารกิจที่ 2 คือการเดินหน้าตรวจสอบอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้อาศัยว่าอาคารมีความปลอดภัย โดยในวันนี้จะส่งวิศวกรอาสา 130 คนลงพื้นที่ตรวจสอบอาคาร ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. อาคารหน่วยงานราชการ โดยจะมีอธิบดีกรมโยธาและผังเมืองรับผิดชอบ 2. อาคารของเอกชนจะเป็นความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครและวิศวกรอาสา คาดว่าน่าจะเพียงพอและใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เพราะ 700 เคสที่คัดกรองมาจาก 2,000 เคส ไม่ได้หนักทุกเคส มีเคสที่หนักและน่าเป็นห่วงอยู่แค่ 2 เคส คือ อาคารห้องชุดของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งที่มีปัญหาตามข่าว

 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เขตที่ได้รับแจ้งมากที่สุด คือ ดินแดงและห้วยขวาง รวมถึงเขตปทุมวันที่มีอาคารสูงอยู่จำนวนมาก คาดว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลาย โดยต้องเร่งตรวจสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะปลอดภัย ภายใน 2 วันนี้ กทม. จะออกคำสั่งให้อาคารสูงขนาดใหญ่เร่งทำการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารก่อนจะเปิดให้เข้าอาคารให้รอฟังต่อไป

 

ทั้งนี้ เราต้องตั้งสติ คนอาจจะเห็นรูปตึกถล่มที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่มีความเปราะบางมาก เรายอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ และเสียหายมากๆ แต่ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เพราะตึกอื่นๆ ในกรุงเทพก็ยังอยู่ได้ ยืนยันว่าอาคารภายในกรุงเทพมหานครมีมาตรฐาน และความปลอดภัยที่เชื่อมั่นได้

 

ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เพราะสถานการณ์กำลังคลี่คลาย เพราะอาฟเตอร์ช็อกมีจำนวนน้อยลงและเบาลง เรามีแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ขอขอบคุณทีมงานทุกภาคส่วน 

 

ส่วนกรณีผู้รับเหมาตึก 30 ชั้น ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ไม่ใช่ผู้รับเหมาของกรุงเทพมหานคร ตอนนี้ขอโฟกัสเรื่องการช่วยชีวิตและสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนก่อน ส่วนใครจะผิดจะถูก ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญไปดูอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องในระยะยาว ที่ต้องมาพูดคุยหามาตรการต่างๆ รับมือให้ดีขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising