×

กทม. ส่งการบ้านครบ 6 เดือนผ่านภารกิจ 4 รองผู้ว่าฯ การรักษาพยาบาล-บทเรียนน้ำท่วม-แหล่งทำกิน-การศึกษา

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2022
  • LOADING...
กรุงเทพมหานคร

วานนี้ (21 ธันวาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) 4 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย จักกพันธุ์ ผิวงาม, วิศณุ ทรัพย์สมพล, ทวิดา กมลเวชช และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ จัดแถลงผลงานการรับผิดชอบภารกิจแต่ละด้านในวาระครบรอบ 6 เดือนของการรับตำแหน่ง

 

โดยนโยบายที่ได้นำมาปฏิบัติเป็นไปตามตัวชี้วัดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดไว้ 9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วย ปลอดภัยดี เดินทางดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี โครงสร้างดี เรียนดี เศรษฐกิจดี และบริหารจัดการดี 

 

พัฒนาคุณภาพเจ้าหน้าที่ กทม.-สนับสนุนการรักษาขั้นปฐมภูมิ-บริหารแผนที่เสี่ยงภัย

 

ทวิดากล่าวถึงรูปแบบการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. เวลาลงไปเจอปัญหาจะไม่โทษใครก่อน แต่จะสั่งการให้รองผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 คนไปหาข้อมูลแล้วจึงแก้ไขปัญหา มุมหนึ่งคือผู้ว่าฯ กทม. ไปตามงานให้ และสองคือเจ้าหน้าที่ที่เป็นระดับปฏิบัติการจะรู้สึกว่าคนที่เป็นหัวหน้าก็มีส่วนรับผิดชอบในหน้าที่ตรงนี้ด้วย สะท้อนถึงความใส่ใจ ลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง 

 

หลังจาก 99 วันที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ได้พูดถึงกันคือทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นเป้าหมายนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 7 มิติ ซึ่งออกมาเป็นเป้าหมายให้กับคนกรุงเทพฯ 74 เรื่อง และภายใต้ 74 เรื่องนี้ได้มีการถ่ายทอดนำไปสู่ 74 OKRs (Objective and Key Results เครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผล) ของหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว

 

โดยกำหนด KPIs (Key Performance Indicators ดัชนีชี้วัดผลงาน) ของหน่วยงานนั้นๆ และให้หน่วยงานทำคำของบประมาณในปี 2567 จะใช้วิธีคิดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based) เพื่อมองเป้าหมายว่าประชาชนจะได้อะไร และพิจารณาว่าอะไรควรดำเนินการต่อ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

 

เริ่มจากให้การสนับสนุนงาน ปัจจุบัน กทม. จ้างงานคนพิการแล้ว 323 คน และภายในเดือนมีนาคม 2566 มีเพิ่มอีก 4 ตำแหน่ง 11 อัตรา ภายใต้การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น 

 

ในขณะเดียวกันมีการพัฒนาทักษะเดิมของเส้นเลือดฝอย เพิ่มเติมทักษะใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ของ กทม. ให้สามารถทำงานได้มากกว่า 1 งาน ในกลุ่มนักจัดการเมือง นักสุขภาพเมือง นักสิ่งแวดล้อมเมือง นักปลอดภัยเมือง และวิศวกรเมือง รวมทั้งมีการกระจายอำนาจเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสังคมและคุณภาพชีวิตในสำนักงานเขต สู่ประชาชนในพื้นที่ (Sandbox) คลองเตย บางเขน โดยเลือกจากบริบทของเขตที่มีความแตกต่างกัน เพื่อปรับโครงสร้างของงาน เงิน คน โดยสำนักงานเขตมีอำนาจในการตัดสินใจบนบริการสาธารณะที่สอดคล้องกับพื้นที่และปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

ทวิดากล่าวต่อไปว่า ระบบบริการปฐมภูมิเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยมี 3 เรื่องใหญ่ที่ทำในตอนนี้ คือ One Stop Service – Telemedicine – BKK Pride Clinic เริ่มจากศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ เปิดให้บริการในรูปแบบ One Stop Service จำนวน 9 แห่ง ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ดำเนินการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,345 ราย โดยในปี 2566 จะเปิดศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง จนครบ 11 โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร

 

สำหรับบริการทางการแพทย์ผ่านระบบโทรเวชกรรม Telemedicine ให้บริการปรึกษา ตรวจรักษา ตรวจสอบสิทธิ นัดหมาย จองคิว ส่งต่อข้อมูล เปิดใช้ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง มีผู้รับบริการ 45,583 ราย โดยในปี 2566 จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 แห่ง นอกเหนือจากการให้บริการรับคำปรึกษาและรักษาพยาบาลแล้ว ยังให้บริการระบบสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) แบบไร้รอยต่อ เปิดใช้งานระบบ e-Referral ระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขกับโรงพยาบาล ประหยัดเวลา ได้รักษาเร็วขึ้น ลดเวลาการตอบรับนัดเหลือไม่เกิน 30 นาที (ค่าเฉลี่ย 20 นาที และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกรณีความซับซ้อนของการรักษา) 

 

นอกจากนี้ยังยกเลิกการใช้ใบส่งตัว โดยใช้งานระบบ e-Referral จากศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ไปยังโรงพยาบาลในสังกัดจำนวน 6 แห่ง มากกว่า 5,000 เคส ใช้งานจริงแล้วที่ดุสิตโมเดลและราชพิพัฒน์โมเดล โดยในเดือนมกราคม 2566 ระบบ e-Referral พร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ทุกโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัด กทม.

 

ทวิดาได้รายงานสรุปข้อมูลการดำเนินงาน Sandbox ดุสิตโมเดล ครอบคลุม 4 เขต เขตดุสิต พระนคร บางซื่อ และบางพลัด ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ใช้บริการ Telemedicine 1,391 คน เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2565 มีผู้ใช้บริการ e-Referral 3,361 คน และในปีงบประมาณ 2565 ใช้บริการ V EMS 1,391 คน สำหรับ Sandbox ราชพิพัฒน์โมเดล ครอบคลุมพื้นที่ 5 เขต ประกอบด้วย เขตทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ตลิ่งชัน และภาษีเจริญ โดยมียอดสะสมให้บริการผ่าน Telemedicine 67,330 คน ยอดสะสมให้บริการ Commu-lance 4,337 คน ยอดสะสมให้บริการผ่าน Motor-lance 494 คน ยอดสะสมให้บริการผ่านระบบเยี่ยมบ้านออนไลน์ 941 คน (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 19 ธันวาคม) ในส่วนของ BKK Pride Clinic ให้บริการแล้ว 11 แห่ง (เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน) และจะเปิดเพิ่ม 5 แห่ง จนครบ 16 แห่ง ภายในเดือนธันวาคม 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2565 มีผู้รับบริการ 4,619 ราย

 

เปิดข้อมูล BKK Risk Map แผนที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดข้อมูล 5 ภัย (ระยะที่ 1) ได้แก่ อุทกภัย อัคคีภัย จุดเสี่ยงและอันตราย ความปลอดภัยทางถนน มลพิษทางอากาศ PM2.5 ส่งออกข้อมูลแบบ Machine-readable Data ซึ่งสามารถใช้งานได้ทันที ช่วยสร้างความตระหนักเรื่องของภัย และอีกมุมคือสร้างการมีส่วนร่วมในการรายงานข้อมูลจุดเสี่ยงต่างๆ โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงกับ Traffy Fondue และ CCTV นอกจากนี้ กทม. ยังใช้ข้อมูลจาก BKK Risk Map ในการวางแผนทางด้านสาธารณภัยทั้งหมด 

 

ในปีงบประมาณ 2566 มีการเพิ่มประปาหัวแดง 248 จุดในพื้นที่เสี่ยงสูง จากทั้งหมด 23,598 จุด เพิ่มเครื่องดับเพลิงในชุมชนแออัด 451 ชุมชน รวมไม่น้อยกว่า 268 ถัง เพิ่มรถกู้ภัยทางถนน 15 คัน และพัฒนาสถานีดับเพลิงทันสมัยตอบโจทย์เมือง โดยเร่งยกระดับสถานีดับเพลิงหลัก 37 แห่ง และ 11 สถานีย่อย รวมทั้งปรับปรุง 1 แห่ง สร้างใหม่ 4 แห่ง (สายไหม สุทธิสาร บางอ้อ ทวีวัฒนา) รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่และชุมชุน โดยมีแผนอำนวยการเหตุการณ์สำหรับผู้อำนวยการเขตและผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ดำเนินการแผนซ้อมและปฏิทินซ้อมดับเพลิง อพยพ ระดับชุมชน เชื่อมโยง เชื่อมงาน สานพลังกู้ชีพกู้ภัย นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือ MOU ร่วมกับมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย 7 แห่ง แบ่งโซนการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีเอกภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยในปี 2566 นำร่องซ้อม 438 ชุมชน ซึ่งจะทำให้ กทม. บริหารจัดการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ถอดบทเรียนน้ำท่วมหนักสุดรอบ 30 ปี-จัดระเบียบสายสื่อสาร-ปรับปรุงระบบจราจร

 

ด้านวิศณุกล่าวถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง (Infrastructure) ซึ่งมีความท้าทายและซับซ้อน รวมถึงต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเรื่องแรกคือปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมาจากน้ำฝนและน้ำเหนือ น้ำหนุน โดยในปีนี้ปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ถึง 40% (ค่าเฉลี่ยปี 2534-2563 รวม 1,689.7 มิลลิเมตร (มม.) ค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 รวม 2,355.5 มม.) ทำให้ กทม. ต้องเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำให้มากขึ้น 

 

จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมที่ผ่านมา จุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน สิ่งที่ กทม. ทำได้คือการเร่งระบายให้น้ำที่มีนั้นออกไปสู่คลองและแม่น้ำให้ได้เร็วที่สุด ผ่านการลอกท่อ ขุดลอกคลอง และปรับปรุงสถานีสูบน้ำ โดยปี 2565 ดำเนินการลอกท่อไปแล้ว 3,357 กิโลเมตร จากทั้งหมด 6,564 กิโลเมตร และในปี 2566 จะดำเนินการ 3,875 กิโลเมตร การปรับปรุงบ่อสูบน้ำ ปี 2565 ดำเนินการปรับปรุง 12 แห่ง และเพิ่มปั๊ม 18 ตัว ปี 2566 ปรับปรุงเพิ่มอีก 69 แห่ง และเพิ่มปั๊ม 124 ตัว (Mobile Pump) 

 

วิศณุกล่าวด้วยว่า การขุดลอกคลอง จาก 2,742 กิโลเมตร ปี 2565 ดำเนินการแล้ว 159 กิโลเมตร (ปี 2560-2565 รวม 1,012 กิโลเมตร) และปี 2566 จะดำเนินการ 183 กิโลเมตร นอกจากนี้ในปี 2565 ดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ 23 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำ ปี 2566 ดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ 39 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มปั๊ม 30 ตัว เพื่อให้สามารถระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น ซึ่งการระบายน้ำของ กทม. ในปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

 

สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วม จากน้ำเหนือหนุน 119 จุด ที่ผ่านมามีการซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วมและแนวฟันหลอ 21 แห่ง ในปี 2565 ดำเนินการเพิ่มอีก 25 แห่ง และปรับปรุงทางเท้า 1,000 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 150 กิโลเมตร ปี 2566 จะดำเนินการ 250 กิโลเมตร สำหรับการปรับปรุงทางเท้าจากการรายงานของประชาชนผ่าน Traffy Fondue มีจำนวน 20,107 รายการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 12,695 รายการ คิดเป็น 63% รวมถึงปรับปรุงทางวิ่งเพื่อทำให้เป็น Bangkok Trail สร้างเศรษฐกิจให้เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ 500 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 20 กิโลเมตร 2 เส้นทาง และในปี 2566 จะดำเนินการ 100 กิโลเมตร รวม 10 เส้นทาง 

 

การจัดระเบียบสายสื่อสาร ปี 2565 ดำเนินการแล้วเสร็จ 161.56 กิโลเมตร (37 เส้นทาง) ปี 2566 ดำเนินการเพิ่ม 442.62 กิโลเมตร และได้นำสายสื่อสารลงดิน ปี 2565 ดำเนินการแล้วเสร็จ 6.3 กิโลเมตร ปี 2566 จะดำเนินการเพิ่ม 29.2 กิโลเมตร ซึ่ง กทม. ได้ร่วมดำเนินการใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

วิศณุกล่าวต่อไปว่า กทม. ได้วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำแผนที่ 100 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ประกอบด้วย 1. รณรงค์และกวดขันวินัยจราจรเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน 2. การปรับปรุงเครื่องหมาย ป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร และการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย 3. การปรับปรุงทางกายภาพในปี 2565-2566 ดังนี้

 

ปี 2565 ดำเนินการล้างทำความสะอาด 421 แห่ง (กทม. มี 2,794 ทางข้าม) ทาสีโคลด์พลาสติก 145 แห่ง และปรับปรุงทางม้าลายสีขาวที่ซีดจาง / ชำรุด 1,000 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยก 4 แห่ง สัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม 85 แห่ง และสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม 50 แห่ง ปี 2566 ดำเนินการล้างทำความสะอาด 500 แห่ง ทาสีโคลด์พลาสติก 210 แห่ง และปรับปรุงทางม้าลายสีขาวที่ซีดจาง / ชำรุด 500 แห่ง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางแยก 2 แห่ง และสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม 50 แห่ง

 

ปัญหารถติดซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กทม. ได้ดำเนินการวิเคราะห์จุดฝืดรถติด และจะดำเนินการกวดขันวินัยจราจร ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ (Soft Power) แนวทางตามหลักวิศวกรรมจราจร (ปรับปรุงเชิงกายภาพ) และใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการไฟจราจร (Intelligent Traffic Management System: ITMS) ซึ่งจากนี้ไปจะทำงานร่วมกับตำรวจจราจรเพื่อจัดการจราจรให้คล่องตัวมากขึ้นด้วย 

 

ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 – หาพื้นที่ทำสวน 15 นาที – สะสางปัญหาหาบเร่

 

ส่วนจักกพันธุ์กล่าวว่า เนื่องจากผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยกำหนดเป็นมาตรการ 16 มาตรการ มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำ 16 มาตรการไปปฏิบัติ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ตรวจ ติดตาม และแก้ไข เริ่มจากการหาสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองซึ่งมีหลายปัจจัย โดยสำนักงานเขตและสำนักที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาของฝุ่นว่าเกิดจากอะไรบ้าง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการตรวจรถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 58,711 คัน ตรวจโรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ถมดิน 1,900 แห่ง ติดตาม BKK Clean Air Area ตรวจสอบแหล่งกำเนิดทุกแห่งอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน ทั้งนี้ ได้มีการสั่งแก้ไขปรับปรุงโรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ถมดิน 41 ครั้ง สั่งแก้ไข-ห้ามใช้รถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 1,020 คัน โดยมีจุดวัดค่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ 70 จุด ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK และมีการใช้ Traffy Fondue แจ้งจุดกำเนิดฝุ่น 

 

จักกพันธุ์กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในการบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อให้นโยบายสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในอนาคต กทม. จะร่วมมือกับแอป LINE ซึ่งจะทราบข้อมูลฝุ่นละอองในแต่ละจุดว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และแนวทางการแก้ปัญหาของ กทม. ต่อไปในอนาคตมีอะไรบ้าง ปัจจุบันค่ามาตรฐาน PM2.5 ของประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษกำหนดไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในอนาคตกรมควบคุมมลพิษได้ลดจำนวนจาก 50 มคก./ลบ.ม. เหลือ 37.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งจะใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 27 มคก./ลบ.ม.

 

จักกพันธุ์กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายสวน 15 นาที ขณะนี้สำนักงานเขตและสำนักสิ่งแวดล้อมดำเนินการจัดหาพื้นที่ทำสวน 15 นาทีได้แล้ว 98 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 641 ไร่ แบ่งเป็นที่ดิน กทม. 39 แห่ง หน่วยงานรัฐ 34 แห่ง เอกชน 25 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง คือ

 

  1. สวนหน้าคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล 
  2. สวนหย่อมดับเพลิงสุทธิสาร 
  3. สวน Vadhana Pocket Park ซอยทองหล่อ 10 
  4. สวนหย่อมซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนี่ยน ปาร์ค 
  5. สวนหย่อมซอยวชิรธรรมสาธิต 27 (ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว) 
  6. สวนหย่อมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก (เขตบางรัก) 
  7. สวนสุขใจ 
  8. สวนจุดพักรถลาดกระบัง 
  9. ยูเทิร์นเพลินใจ ทางกลับรถใต้สะพานบางขุนศรี 
  10. ที่ว่างชุมชนการเคหะธนบุรี โครงการ 1 ส่วน 4 
  11. สวนสมเด็จย่า บางขุนเทียน 
  12. ลานเอนกประสงค์ สวนสุขเวชชวนารมย์ 
  13. สวนบางบอนสุขใจ 

 

โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ในสวน เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

 

ด้านการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและมีความสำคัญในการให้ผู้ค้าและผู้เดินเท้าใช้ทางเท้าร่วมกันได้ โดยปัจจุบัน กทม. มีจำนวนจุดผ่อนผันทั้งหมด 95 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 55 จุด กำลังดำเนินการ 31 จุด ขอทบทวน 9 จุด และนอกจุดผ่อนผันทั้งหมด 618 จุด โดยมีการสำรวจนอกจุดผ่อนผัน 50 เขต จำนวนผู้ค้า 13,964 ราย พร้อมดำเนินการจัดระเบียบให้ผู้ค้าอยู่ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมทั้งมีการเก็บข้อมูลผู้ค้า และขอความร่วมมือทำความสะอาดพื้นที่ทำการ ซึ่งมีพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น สำนักงานเขตปทุมวัน หน้าอาคารโรเล็กซ์ (ถนนวิทยุ) สำนักงานเขตบางนา หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา สำนักงานเขตดอนเมือง บริเวณถนนสรงประภา 

 

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพื้นที่ 125 จุด เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์อาหาร (Hawker Center) โดยมีการแบ่งโซนพื้นที่ร่มบังแดด บังฝน เพื่อความสะดวก จัดให้มีจุดคัดแยกขยะ พื้นที่ซักล้างเพื่อความสะอาด พร้อมจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางในการจัดกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน โดยมีพื้นที่นำร่อง Hawker Center 2 จุด ได้แก่ เขตมีนบุรี และสวนลุมพินีประตู 5 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

 

จักกพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวจากนิตยสาร Time Out ได้จัด 33 อันดับถนนที่ดีที่สุดในโลก จากการสัมภาษณ์ผู้คนทั่วโลกกว่า 20,000 คน โดยอิงจากถนนสายชั้นนำของโลกที่โดดเด่นทั้งอาหาร ความสนุกสนาน วัฒนธรรม และชุมชน ซึ่งถนนเยาวราชติดลำดับที่ 8 นั่นหมายถึงถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีศักยภาพที่ทำเป็นที่ค้าขาย หรือสตรีทฟู้ดให้ประชาชนได้ค้าขาย คนทั่วไป และนักท่องเที่ยว ได้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งผู้ค้าต้องมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ กทม. ให้เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว จะสามารถทำให้สตรีทฟู้ดของกรุงเทพฯ มีความยั่งยืน และอยู่ร่วมกันได้ระหว่างประชาชนที่ใช้ทางเท้ากับผู้ค้าบนทางเท้า

 

สร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียม-เพิ่มพื้นที่ / ชั่วโมงการเรียนรู้-ยกระดับเศรษฐกิจระดับเมือง

 

ส่วนศานนท์กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาคนพร้อมกับพัฒนาเมือง ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา กทม. เปลี่ยนวิธีการทำงานโดยสิ้นเชิง เดิมการทำงานบูรณาการเป็นเรื่องยาก จึงเปลี่ยนการทำงานเอาคนเป็นตัวตั้ง และเอาทีมมาสนับสนุนการดำเนินการ สำหรับภารกิจซึ่งในส่วนที่ดูแลคือเรื่องของสวัสดิการขั้นพื้นฐาน การเรียนรู้ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

 

เรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ทำให้ทุกคนมีสวัสดิการเท่าเทียมที่รัฐจัดการให้ โจทย์คือทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงอย่างถ้วนหน้า เมื่อคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เริ่มจากฐานที่เท่ากัน การดำเนินการแบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย เป็นสวัสดิการทั่วถึงสำหรับเด็ก โดยเพิ่มค่าอาหารจากเดิม 20 บาทเป็น 32 บาท และอุปกรณ์ศูนย์เด็กเล็กจากเดิม 100 บาทเป็น 600 บาท อาหารเช้า-กลางวันฟรี ชุดนักเรียนฟรี ผ้าอนามัยฟรี และลดการใส่เครื่องแบบ ด้านสวัสดิการคนไร้บ้าน ดำเนินการจัดจุด Drop-in 4 จุด เพื่อให้บริการตัดผม ซัก อบ อาบ ตรวจสอบสิทธิ สวัสดิการ ตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนจ้างงาน ดำเนินการจัดระเบียบการแจกอาหาร และดำเนินการจัดที่อยู่อาศัย ทั้งแบบอยู่อาศัยระยะยาวและแบบอยู่อาศัยชั่วคราว (บ้านพักคนละครึ่ง) 

 

ด้านสวัสดิการคนไร้บ้าน ประกอบด้วย จ้างงานคนพิการ 323 คน พัฒนาระบบ Live Chat Agent มีโรงเรียนเรียนร่วม 158 โรงเรียน นำร่องอบรมครูเรียนรวม 2 โรงเรียน การเปิด LINE OA กรุงเทพฯ เพื่อทุกคนในเรื่องฐานข้อมูล และสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ ให้บริการรถรับ-ส่งคนพิการ โดยกรุงเทพธนาคม การจัดให้มีอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชน 22,566 คน จาก 31 เขต เพื่อทำให้ข้อต่อต่างๆ มีความเข้มแข็งขึ้น โครงการ Food Bank ส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มคนเปราะบาง 10 เขตพื้นที่นำร่อง การส่งเสริมอาชีพโดยสร้างแรงงานตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และสร้างผู้ประกอบการ

 

ศานนท์กล่าวด้วยว่า ด้านการเรียนรู้ แบ่งเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คัดกรองเด็กยากจนพิเศษเพื่อขอรับทุนการศึกษา 6,159 คน ปลดล็อกครูโดยเพิ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและการเงินโรงเรียนเพื่อลดภาระงานเอกสารครู และปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้เป็นมาตรฐานสากล ด้าน Open Education เปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ในวิชาที่นักเรียนสนใจ เช่น เปิดสอน Coding การตัดต่อวิดีโอ ดิจิทัล

มาร์เก็ตติ้ง และ E-Sport ด้านการกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) 54 โรงเรียน เพื่อเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน และพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา เช่าระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ทุกโรงเรียนในรอบ 7 ปี

 

สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ประกอบด้วย ห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 140 แห่ง ลานกีฬา 970 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 24 แห่ง ศูนย์เยาวชน 35 แห่ง และสวนสาธารณะ 103 แห่ง ซึ่ง กทม. ได้จัดกิจกรรมเติมชีวิตให้พื้นที่เหล่านี้โดยจัดกิจกรรมมากกว่า 200 ครั้ง ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 500,000 คน 

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กทม. ได้ดำเนินการ เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเริ่มเพิ่มช่องทางออนไลน์ให้ 93 ร้าน สร้างยอดขายกว่า 1.85 ล้านบาท และการส่งเสริมกิจกรรมออฟไลน์ตลาดชุมชน พื้นที่ออกร้านตามกิจกรรมและเทศกาลต่างๆ

 

ศานนท์ยังได้กล่าวถึงกิจกรรมย่านสร้างสรรค์ตามอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบด้วย กลุ่มย่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ย่านพาณิชยกรรมสร้างสรรค์ และย่านชุมชนและวิถีชีวิตสร้างสรรค์ ซึ่งเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยคณะทำงานที่เข้าใจปัญหาจริงจัง ซึ่งได้แต่งตั้งแล้ว 27 คณะ สำหรับทิศทางการทำงานในปี 2566 จะดำเนินการเกี่ยวกับสภาเมืองคนรุ่นใหม่ งานพัฒนาที่อยู่อาศัย MIB (Made in Bangkok) City Lab แพลตฟอร์มจองพื้นที่สาธารณะ และ Sandbox ในส่วนของโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และหลักสูตรการฝึกอาชีพ 

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่าเรื่องของการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กทม. ได้ตั้งเป้าการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 79,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้จัดเก็บได้เกินเป้าคือกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งขั้นต่อไปต้องพยายามให้สำนักงานเขตจัดทำฐานภาษีตามกฎหมายใหม่ให้ได้ตามเป้า 100% ทั้งนี้ นอกจากการหารายได้แล้วต้องคำนึงถึงเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เหลือวงเงินงบประมาณไปใช้ในเรื่องที่ กทม. ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การดำเนินงานเพื่อกลุ่มเปราะบาง การนำ OKRs มาใช้ 

 

ส่วนระบบ Traffy Fondue ที่นำมาใช้เพื่อรับปัญหาจากประชาชน สรุปยอดผู้รายงานปัญหาในขณะนี้มีทั้งหมด 192,686 เรื่อง ปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ ถนน ทางเท้า น้ำท่วม แสงสว่าง และความปลอดภัย ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว 68% อยู่ระหว่างการแก้ไข 3% ส่งต่อให้หน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ 26% และรอเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 1%

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X