×

ย้อนดูสถิติผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้ง คึกคักแค่ไหน ใครชนะ ใครขับเคี่ยว?

23.12.2021
  • LOADING...
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม

ชื่อ ‘กรุงเทพมหานคร’ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เปลี่ยนผ่านจากการเป็น ‘นครหลวงกรุงเทพธนบุรี’ นับจนถึงปัจจุบัน แม้เราจะมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแล้วทั้งสิ้น 16 คน (บางคนดำรงตำแหน่งมากกว่า 1 สมัย) ทว่ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นเพียง 10 ครั้ง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในบางยุคบางสมัย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการ ‘แต่งตั้ง’ ไม่ใช่ ‘เลือกตั้ง’

 

THE STANDARD ชวนย้อนภาพการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตลอด 10 ครั้งที่ผ่านมา โดยเราต้องขอหมายเหตุไว้ก่อนว่าคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนที่จะกล่าวเป็นร้อยละต่อไปนี้ เป็นการคำนวณร้อยละโดยเทียบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งได้รวมบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนและบัตรเสียเอาไว้ด้วย

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2518 ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไปในคราวเดียวกัน ตำแหน่งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ซึ่งมีการสมัครรวมกันเป็น ‘คณะ’ คณะละ 5 คน ปรากฏว่าในครั้งนั้น คณะของ ธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะไปด้วยคะแนนร้อยละ 37.27 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด แต่ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 13.86 เท่านั้นจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ธรรมนูญทำหน้าที่ไปได้เพียงปีเศษ ก็ถูก ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จากเหตุความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของ กทม. ทำให้จากนั้นตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จึงมาจากการแต่งตั้งเรื่อยมาอีกหลายปี

 

กระทั่งมาถึงปี 2528 หลังว่างเว้นการเลือกตั้งมาถึง 10 ปี ก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งหนนี้ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ นั้น ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ จะเป็นผู้คัดเลือกทีมงานของตนเอง ครั้งนั้นมีผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. 10 คนด้วยกัน แต่ปรากฏว่าผู้ที่เข้าป้ายได้ชัยชนะคือ ‘พล.ต. จำลอง ศรีเมือง’ ซึ่งครั้งนั้นลงสมัครในนาม ‘กลุ่มรวมพลัง’ ได้คะแนนไปร้อยละ 48.94 ขณะที่อันดับ 2 เป็นของ ชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คะแนนน้อยกว่า พล.ต. จำลอง อยู่ราวครึ่งหนึ่ง คราวนี้มีผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34.66 และในปีนี้เองที่กฎหมายกำหนดให้มีสมาชิกสภาเขตด้วย ข้อมูลจากหนังสือ ‘กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554’ ระบุว่า จำลองใช้วิธีเดินหาเสียงไปตามท้องถนนจนเอาชนะใจประชาชนได้ด้วยบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตน สวมเสื้อม่อฮ่อม และขอให้ผู้ได้รับใบปลิวช่วยส่งต่อใบปลิวต่อไปหลังอ่านจบ เพราะ “ผมไม่มีเงินพอที่จะพิมพ์ใบปลิวเยอะๆ”

 

และอีก 4 ปีเศษต่อมา ก็เป็น ‘พล.ต. จำลอง’ คนเดิมอีกครั้ง ที่คราวนี้ลงสมัครในนาม ‘พรรคพลังธรรม’ และกวาดคะแนนไปได้มากถึงร้อยละ 61.32 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พรรคพลังธรรมก็ชนะขาด ได้ไปถึง 50 จาก 57 ที่นั่ง และอีกสัปดาห์ถัดมาพรรคพลังธรรมยังได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตไป 184 จาก 220 ที่นั่ง

 

หลังจากอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มานาน 6 ปี พล.ต. จำลอง ลงจากตำแหน่งในปี 2535 เพื่อลงเลือกตั้งระดับประเทศ และเสนอชื่อ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นตัวแทนพรรคพลังธรรมในการเลือกตั้งหลังการลาออกของเขา ปรากฏว่ากฤษฎาได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 47.75 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ส่วนคู่แข่งสำคัญอย่าง พิจิตต รัตตกุล ที่ครั้งนั้นลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนที่ร้อยละ 40.15 แต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิครั้งนั้นอยู่ที่เพียงร้อยละ 23.02 เท่านั้น ซึ่งน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ถัดจากการเลือกตั้งในปี 2518 ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ของ สุภาเพ็ญ วงษ์รัตนโต เมื่อปี 2539 ระบุคำสัมภาษณ์ สมคาด สืบตระกูล อดีตผู้อำนวยการเลือกตั้งของ พิจิตต รัตตกุล ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2539 ที่ระบุว่าในการเลือกตั้งปี 2535 นั้น “…ดร.พิจิตต ได้เสนอหาเสียงด้วยประเด็นนโยบายเช่นเดียวกัน แต่ระดับความเข้มแข็งของพรรคพลังธรรมมีมาก กระแสความนิยมคุณจำลองมีมาก ประชาชนจึงสนับสนุนคุณกฤษฎา” ส่วน มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม ผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2535 ระบุว่า ในครั้งนั้นประชาชนเห็นผลงานของพิจิตตในเวลาน้อยเกินไป นโยบาย ความพร้อมทุกด้านยังมีไม่มากพอ และพิจิตตเองยังใหม่ในการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น

 

ถัดมาอีก 4 ปี ในการเลือกตั้งปี 2539 คราวนี้เป็นการชิงชัยกันระหว่างผู้สมัครรายสำคัญ ทั้ง พล.ต. จำลอง, กฤษฎา และพิจิตต แต่เป็นรายหลังสุดที่เข้าป้ายได้ชัยชนะ โดยได้คะแนนไปร้อยละ 48.73 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เฉือน พล.ต. จำลอง และกฤษฎา ซึ่งได้คะแนนไปร้อยละ 32.60 และ 15.46 ตามลำดับ หนนี้พิจิตตลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรคการเมือง เขามีภาพลักษณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและชูนโยบาย ‘ฟื้นกรุงเทพฯ’ เป็นจุดขาย

 

การเลือกตั้งปี 2543 มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองลงชิงตำแหน่งหลายคน และผู้ที่ได้อันดับ 1-3 ก็มาจากพรรคการเมืองทั้งสิ้น โดยผู้ชนะอันดับ 1 คือ สมัคร สุนทรเวช จากพรรคประชากรไทย ภายใต้สโลแกนว่า ‘ถ้าจะใช้ผม กรุณาเลือกผม’ ที่ได้คะแนนไปร้อยละ 45.21 ท่ามกลางความเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวกรุงเทพมหานครและประสบการณ์การบริหารงานระดับชาติมาเป็นเวลานาน ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยรักไทย ที่ได้คะแนนร้อยละ 23.19 และอันดับ 3 คือ ธวัชชัย สัจจกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนร้อยละ 11.02 นอกจากนี้ยังมี ปวีณา หงสกุล ซึ่งลงสมัครในนามพรรคชาติพัฒนา ซึ่งได้ลำดับที่ 6 และ พ.ต.ท. กานต์ เทียนแก้ว จากพรรคพลังประชาชน ได้ลำดับที่ 11 ส่วนผู้สมัครจากกลุ่มอื่นและผู้สมัครอิสระก็มีที่ชื่อคุ้นหูหลายคน ทั้ง พ.อ. วินัย สมพงษ์, กัลยา โสภณพนิช และ วิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นต้น

 

ส่วนการเลือกตั้งในปี 2547 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปมีบทบาทดูแลการเลือกตั้ง ทั้ง กกต. กลาง และ กกต. กรุงเทพมหานคร จากเดิมที่เป็นหน้าที่ของปลัดกรุงเทพมหานคร และมีการเปลี่ยนแปลงอื่น เช่น ระบบการนับคะแนนเลือกตั้ง การจ่ายเงินค่าสมัครที่เพิ่มขึ้น หรือการแจกใบเหลือง-ใบแดงเป็นครั้งแรก เป็นต้น สถานการณ์การเมืองทั่วไปคือ พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมลดลงหลังมีกระแสความนิยมในพรรคไทยรักไทย แต่พรรคไทยรักไทยเองก็กำลังเสื่อมความนิยมในกรุงเทพฯ ท้ายสุดพรรคไทยรักไทยตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัคร แต่ก็มีข่าวว่ามีท่าทีสนับสนุน ปวีณา หงสกุล ผู้สมัครที่ประกาศลงแข่งในนามอิสระ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่เพิ่งเข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่นเป็นครั้งแรก คว้าชัยชนะไปด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 36.86 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนอันดับ 2 เป็นของ ปวีณา หงสกุล ได้คะแนนเสียงไปร้อยละ 25.04 และ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มาเป็นอันดับ 3 ที่ร้อยละ 13.52 ชัยชนะของอภิรักษ์ถือเป็นการนำเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. กลับสู่พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง หลังไม่มีใครในพรรคดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานเกือบ 30 ปี

 

อีก 4 ปีถัดมา ในการเลือกตั้งปี 2551 ท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองสองขั้ว อภิรักษ์เจ้าของเก้าอี้เดิมลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ขับเคี่ยวกับ ประภัสร์ จงสงวน ที่ขณะนั้นเพิ่งลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาลงสมัครในสังกัดพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น นอกจากนี้ยังมีแคนดิเดตคนสำคัญอื่น เช่น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระ ในที่สุดเป็นอภิรักษ์ที่ชนะไปด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 44.75 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ส่วนประภัสร์, ชูวิทย์ และเกรียงศักดิ์ ได้คะแนนไปร้อยละ 24.54, 15.38 และ 11.74 ตามลำดับ

 

แต่เพียงเดือนเศษๆ ให้หลัง กรุงเทพมหานครก็ถึงคราวต้องหาผู้ว่าฯ กันใหม่อีกครั้ง เมื่ออภิรักษ์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง การเลือกตั้งครั้งถัดมาจึงมีขึ้นต้นปี 2552 ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ชูนโยบาย ‘คืนรอยยิ้มให้คนกรุงเทพฯ’ ได้คะแนนไปร้อยละ 44.07 จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เฉือนชนะ แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่ในขณะนั้นลงสมัครในสังกัดพรรคเพื่อไทยหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ และได้คะแนนไปร้อยละ 28.84 ส่วนอันดับ 3 เป็นของ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ ‘คุณปลื้ม’ ที่ได้คะแนนไปร้อยละ 15.79 และอันดับ 4 คือ แก้วสรร อติโพธิ ได้ไปร้อยละ 6.79 จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

 

และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว หรือในปี 2556 ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กลับมาลงสนามอีกครั้งกับพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม ใช้คำขวัญทั้ง ‘รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ’ และ ‘ทำแล้ว…จะทำต่อ’ สู้กับ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ จากฟากฝั่งพรรคเพื่อไทย ที่มีภาพลักษณ์ของการเป็นตำรวจที่เข้าถึงประชาชนและใส่ใจปัญหายาเสพติด โดยทีมพรรคเพื่อไทยนั้นโปรโมตการ ‘วางยุทธศาสตร์ สร้างอนาคตกรุงเทพฯ กับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ’ รวมถึงการ ‘คืนความสุขสร้างรอยยิ้มให้คน กทม.’ ทั้งนี้ บริบททางการเมืองที่เกี่ยวข้องและส่งผลสืบเนื่องกับการเลือกตั้งหนนี้มีอาทิ ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมาผ่านเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช. ในปี 2553, การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 หรือเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี 2554 รวมถึงการมีบุคคลที่เป็นที่รู้จักของสังคมแสดงความเห็นในทำนองว่าการเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นั้นก็เพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะ ส่วนป้ายหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายของฝั่งประชาธิปัตย์ก็มีการตอกย้ำด้วยข้อความ เช่น ‘ซื่อสัตย์ ไม่โกง’, ‘ประชาธิปัตย์ยืนหยัดเพื่อคนกรุงเทพฯ’ ‘ผมทำจริง เพื่อคนกรุงเทพฯ’ หรือ ‘รวมพลังหยุดผูกขาดประเทศไทย’ เป็นต้น

 

ในที่สุดผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ชัยชนะเหนือ พล.ต.อ. พงศพัศ ไป โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้คะแนนร้อยละ 46.26 จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ส่วน พล.ต.อ. พงศพัศ ได้ไปร้อยละ 39.69 ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และ พล.ต.อ. พงศพัศ ได้คะแนนเสียงเกินล้านเสียงทั้งคู่ ส่วนอันดับ 3 อย่าง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ไปร้อยละ 6.13 และ สุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระ ได้อันดับ 4 ที่ร้อยละ 2.90 การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นครั้งที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 63.98 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดด้วย

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

ภาพ: AFP, Pornchai Kittiwongsakul / AFP, Wikipedia จากเว็บไซต์เก่ากทม. และสำนักงานเลขารัฐสภา 

อ้างอิง:

  • รายงานผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 10 ครั้ง จากสำนักทะเบียนปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร (http://office2.bangkok.go.th/ard/?page_id=3325)
  • รายงานผลการสำรวจทัศนคติของชาว กทม. ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12-18 ธันวาคม 2532
  • หนังสือ ‘มติชน บันทึกประเทศไทย’ ปี 2551 และ 2552 (ศูนย์ข้อมูลมติชน รวบรวมและเรียบเรียง / สำนักพิมพ์มติชน)
  • หนังสือ ‘กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554’ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ / สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์)
  • ข้อมูลผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนหนึ่งจาก https://mgronline.com/qol/detail/9510000105435 และ https://mgronline.com/politics/6027/start=0
  • หนังสือ ‘เวทีท้องถิ่น: ย้อนอดีต ขีดปัจจุบัน มุ่งสู่อนาคต: ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ จัดทำโดย วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า (คณะผู้จัดทำ วุฒิสาร ตันไชย, ธีรพรรณ ใจมั่น และ ธนิษฐา งามจันทร์)
  • วิทยานิพนธ์ ‘ยุทธวิธีการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประเด็นนโยบาย ศึกษากรณี ดร.พิจิตต รัตตกุล ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ปี 2539’ โดยสุภาเพ็ญ วงษ์รัตนโต หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ภาคนิพนธ์ ‘กลยุทธ์การหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2543: ศึกษานโยบายของผู้สมัคร นายสมัคร สุนทรเวช’ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วิทยานิพนธ์ ‘เปรียบเทียบกลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551: กรณีศึกษา นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กับนายประภัสร์ จงสงวน’ ของพระมหาณฐกฤต ดาดวง หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2555)
  • วิทยานิพนธ์ ‘การตลาดทางการเมือง: ศึกษาเปรียบเทียบกลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556’ ของลลิตพรรณ นุกูลวัฒนวิชัย หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2559)
  • วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การใช้สื่อมวลชนของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ของภคกุล ศิริพยัคฆ์ หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2536)
  • วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนในกรุงเทพมหานคร: ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ รองผู้ว่าราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518’ ของสุรพล สายพันธ์ หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2519)
  • วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ของจุฑาทิพย์ สุขรังสรรค์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2529)
  • ภาคนิพนธ์เรื่อง ‘การเลือกตั้งท้องถิ่นแบบถ่วงดุลการเมืองระดับชาติ: ศึกษากรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2547’ ของวรินทร์ทร ปณิธานธรรม หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2551)
  • วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การรับรู้ข่าวสารและพฤติกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง: ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 7 มกราคม พ.ศ.2533’ ของสรณะ อรุณรัตน์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2534)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X