วันนี้ (1 ตุลาคม) เวลา 11.00 น. จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ณ บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ โดยได้เดินสำรวจความคืบหน้าการปรับปรุงและติดตั้งระบบต่างๆ ทั้งบริเวณจุดรับขยะ อาคาร RDF บริเวณระบบบำบัดอากาศด้านหลังโรงงาน และภายในอาคารขนถ่ายมูลฝอย เพื่อตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบเรื่องกลิ่น หลังจากที่ได้ปิดปรับปรุงโรงงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565
“จากการตรวจดูการปรับปรุงแก้ไขในทุกจุด พบว่ามีการพัฒนาไปมาก เช่น การติดตั้งม่านพลาสติกใสเพิ่มบริเวณจุดรับขยะ พร้อมทั้งปิดช่องว่างใต้ประตูอาคารต่างๆ เพื่อป้องกันกลิ่นที่จะออกจากตัวอาคารได้เพิ่มขึ้น การแก้ไขเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดภายในอาคารให้รองรับการบำบัดในทุกอาคารได้ในปริมาณรวมที่ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (ลบ.ม./ชม.) อย่างไรก็ตามได้สั่งการแก้ไขปิดจุดเล็ดลอดบริเวณอาคาร RDF ให้เรียบร้อยทั้งหมด เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ทางโรงงานชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน รวมทั้งจัดประชุมเพื่อรับทราบการทดลองเดินระบบ คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยได้กำชับเรื่องการนำขยะเข้ากำจัด ต้องเริ่มทดสอบในปริมาณน้อยไปหามาก และติดตามประเมินผลกระทบทุกระยะ” จักกพันธุ์กล่าว
สำหรับโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน เป็นโครงการที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้มอบให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินโครงการ โดยรับขยะจากกรุงเทพมหานครเข้าสู่ระบบกำจัดด้วยวิธีเชิงกลชีวภาพ คัดแยกขยะนำน้ำขยะไปหมักให้เกิดก๊าซเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าและได้ผลผลิตเป็นขยะเชื้อเพลิง RDF โดยเปิดดำเนินการช่วงปี 2563 และได้รับการร้องเรียนเรื่องกลิ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งหยุดเดินระบบเพื่อปรับปรุงแก้ไข และมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม เช่น สำนักอนามัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อร่วมตรวจสอบ ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาลดผลกระทบต่างๆ ซึ่งทางโครงการได้เร่งแก้ไขมาเป็นลำดับ ซึ่งมีระบบต่างๆ ที่ปรับปรุงแล้วเสร็จเรียบร้อย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการตรวจติดตามผลกระทบ ดังนี้
- ปรับปรุงอาคารรับขยะให้เป็นระบบปิดทั้งหมด
- ติดตั้งม่านพลาสติกเพิ่มบริเวณประตูทางเข้า-ออกรถขนถ่ายขยะ
- ปรับปรุงระบบบำบัดกลิ่นในอาคารต่างๆ ของโรงงาน จำนวน 2 ระบบ ในปริมาณ 100,000 ลบ.ม./ชม.โดยระบบบำบัดกลิ่นตัวที่ 1 รองรับอัตราการไหลของอากาศจากการรวบรวมอากาศในอาคารรับขยะและอาคารคัดแยกขยะในปริมาณ 65,000 ลบ.ม./ชม. ส่วนระบบบำบัดกลิ่นตัวที่ 2 รองรับการบำบัดในอาคารเตรียมหมัก ในปริมาณ 35,000 ลบ.ม./ชม.
- เตรียมใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับทางคณะกรรมการตามที่ขอข้อมูลในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยใบ รง.88, รง.89 และ รง.106
- ปรับปรุงความเร็วของม่านอากาศที่ติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของอาคารรับขยะและอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง 3.1-4.8 เมตรต่อวินาที และ 2.6-4.2 เมตรต่อวินาที
- การทดลองเดินระบบและการรับขยะเข้ามาทดสอบ โดย กรอ. ได้กำหนดให้บริษัทฯ ทดลองระบบรวบรวมและบำบัดกลิ่นเป็นเวลา 21 วัน และให้รับขยะเข้ากำจัดไม่เกิน 400 ตันต่อวัน
- บริษัทได้จัดทำรายงานความปลอดภัยของโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีระบบต่างๆ ในการแจ้งเตือนและป้องกันเหตุเพลิงไหม้
- จัดทำตามตารางการทำงานและปรับปรุงการเดินรถขยะภายในโรงงาน เพื่อลดผลกระทบเรื่องเสียงในระหว่างการปฏิบัติงาน
- การจัดการระบายน้ำ ภายในโรงงานโดยขุดลอกท่อระบายน้ำภายในโรงงาน เพื่อรองรับปริมาณฝน ไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ
- ดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม LINE คณะกรรมการติดตามฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนบริษัท ผู้แทนประชาชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งความคืบหน้าการแก้ปัญหาและรับทราบข้อมูลต่างๆ จากผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี อาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม, ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, วรเศรษฐ์ วิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเวศ, ศักดา พันธ์กล้า กรรมการตรวจสอบ, ณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ ที่ปรึกษาบริษัท และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลเพิ่มเติม