วันนี้ (11 มีนาคม) ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการสอบคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565
ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ได้ดำเนินการจัดสอบขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ โดยเป็นการส่งเสริมให้คนพิการที่มีความรู้ความสามารถและมีความเหมาะสมกับลักษณะงานของ กทม. ได้มีโอกาสเข้าทำงานมากขึ้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการให้มีรายได้มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี ประกอบกับเป็นการสนับสนุนให้ กทม. สามารถรับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนด
ทวิดากล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมว่า ที่ผ่านมา กทม. มีการจ้างงานคนพิการอยู่บ้างแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการเปิดให้สอบเฉพาะกลุ่มของคนพิการในประเภทต่างๆ ซึ่งการสอบรวมใหญ่ๆ บางครั้งไม่สะดวกกับคนพิการ เช่น สภาพแวดล้อม หรือการดูแลคนพิการทำได้ไม่เฉพาะ การเปิดสอบครั้งนี้มี 4 ตำแหน่ง 11 อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี, เจ้าพนักงานธุรการ, นักจัดการงานทั่วไป และนักวิชาการพัสดุ การเปิดโอกาสในครั้งนี้เป็นการช่วยดึงศักยภาพของคนพิการออกมา
ในการจัดสอบวันนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตด้วยดี มีการจัดเจ้าหน้าที่ที่มาจากศูนย์ดูแลคนพิการ หรือผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจสิ่งแวดล้อมของคนพิการประเภทต่างๆ คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้คนพิการในการสอบในครั้งนี้ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์สำหรับคนพิการ เช่น การมีล่ามภาษามือ การใช้เครื่องช่วยฟัง การใช้คอมพิวเตอร์ในการสอบ หรือแม้กระทั่งผู้คุมสอบที่มีความเข้าใจธรรมชาติของผู้พิการ ทั้งภาวะธรรมชาติและอารมณ์ รวมไปถึงการใช้ข้อสอบที่เหมาะสมให้คนพิการได้แสดงศักยภาพของตน แล้วนำศักยภาพของคนพิการมาใช้ให้เหมาะสมกับตำแหน่งและการทำงานของ กทม.
ทวิดากล่าวอีกว่า ตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ในเรื่องของเส้นเลือดฝอย ไม่ได้หมายถึงแค่ประชาชนกลุ่มเล็กในพื้นที่ที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงโครงการของรัฐ แต่ในอีกมุมหนึ่งคือการคิดในเรื่องของความเท่าเทียมหรือความเสมอภาค ส่วนใหญ่จะคิดในเรื่องของระบบสาธารณะที่ต้องเข้าถึงในทุกพื้นที่ชุมชน แต่ต้องคิดต่อไปอีกว่าการมีอาชีพเป็นของตนเองที่สามารถแสดงศักยภาพของตนเองจะทำให้ภูมิใจในตัวเอง รู้สึกมีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและสังคม คนพิการเป็นประชาชนของ กทม. เช่นเดียวกัน ต้องดูแลให้ดีขึ้น การเปิดให้คนพิการเข้ามาเป็นข้าราชการของ กทม. อีกด้านหนึ่งจะทำให้ข้าราชการภายในองค์กรได้เรียนรู้การทำงานในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และมีความเข้าใจผู้พิการมากขึ้น
“การจัดสอบครั้งนี้เป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่การให้โอกาสผู้พิการ แต่เป็นการให้โอกาส กทม. ในการทำความเข้าใจคนทุกกลุ่มในสังคมที่มีความแตกต่างกันด้วย วันนี้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต อยากทำให้ดีและทำได้ค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีบางอย่างต้องพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ถึงแม้ผู้ที่มาสอบจะไม่ได้ร้องขอ แต่ก็จะต้องทำให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้คนพิการได้มากขึ้น นอกจากนี้ กทม. ต้องเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ทั้งการปรับทางกายภาพ หรือเตรียมสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ตลอดจนความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานให้เป็นไปในทิศทางที่ดี และเกิดประสิทธิภาพต่อการทำงานให้ดีที่สุดต่อไป” ทวิดากล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ก. ได้เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565 จำนวน 4 ตำแหน่ง อัตราว่าง 11 อัตรา มีคนพิการทุกประเภทสมัครสอบคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 585 คน ได้แก่ การเคลื่อนไหว 314 คน, การได้ยิน 152 คน, การเห็น 51 คน, ออทิสติก 39 คน, จิตใจ 15 คน, สติปัญญา 9 คน และการเรียนรู้ 5 คน โดยจำแนกตามตำแหน่ง ดังนี้ 1. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน ว่าง 4 อัตรา มีผู้สมัคร 13 คน 2. เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน ว่าง 4 อัตรา มีผู้สมัคร 112 คน 3. นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ ว่าง 2 อัตรา มีผู้สมัคร 399 คน 4. นักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ว่าง 1 อัตรา มีผู้สมัคร 61 คน