×

เปิดความเห็นหลากมุมมอง สู่การยกระดับเมืองหลวง บนเวที ‘รวมพลคนอยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ’

28.09.2020
  • LOADING...
รวมพลคนอยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ

วันนี้ (28 กันยายน) คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร จัดเวที ‘ผ่าตัดงบประมาณ รวมพลังสร้าง กทม.’ ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน โดยวันนี้เป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน มีการสัมมนาหัวข้อ ‘รวมพลคนอยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ’ ที่ชั้น 5 โชว์รูมเบนซ์ ทองหล่อ

 

เริ่มต้นที่ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการศึกษาที่เท่าเทียมใน 2 ประเด็น คือ โรงเรียนที่ดีและการศึกษาที่ดี โดยเห็นว่าโรงเรียนที่ดี ต้องอยู่ใกล้บ้าน มีอุปกรณ์การเรียนเพียงพอเพื่อประสิทธิภาพการเรียนการสอน ส่วนการศึกษาที่ดีนั้นต้องสามารถดึงศักยภาพของนักเรียนที่แตกต่างกันออกมาได้อย่างเต็มที่ มีหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องทำให้นักเรียนเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วย 

 

 

ขณะที่ กทม. มี 437 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 4 แสนคน งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่มากกว่า 50% เป็นงบประมาณสำหรับบุคลากรหรือค่าจ้างครู ซึ่งถือเป็นการลงทุนทางการศึกษา แต่ไม่ได้ลงไปถึงนักเรียน หรือไม่ได้นำไปยกระดับคุณภาพการศึกษาให้นักเรียน ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจ ยังเป็นอุปสรรคทางการศึกษาที่ทางโรงเรียนยังไม่ได้มีอิสระในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงสำคัญในการสร้างการศึกษาที่เท่าเทียม

 

“ถ้ายังจัดสรรและใช้งบประมาณด้านการศึกษาอย่างที่ผ่านมาและเป็นอยู่ จะไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ลูกหลานไทยก็ยังจะด้อยพัฒนาเหมือนเดิม” ธีรรัตน์กล่าว 

 

ขณะที่ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย จากบริษัท ช ทวี จำกัด ระบุว่า ปัญหาของประเทศไทยแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี และต้องการเปลี่ยน กทม. เป็นเมืองของ ‘คนที่มีความสุข’ ไม่ใช่เมืองเเห่งความสุข ซึ่งจะทำได้ต้องไม่หวังพึ่งภาครัฐอย่างเดียว แต่คนในพื้นที่ที่มีศักยภาพต้องรวมตัวกัน ลดอีโก้ลง แล้วทำเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังอะไร 

 

พร้อมได้ยกตัวอย่าง ‘ขอนแก่นโมเดล’ ที่เอกชนร่วมกันคิดและสร้างรถไฟฟ้าเอง โดยตั้งเป็นบริษัท เข้าตลาดหุ้น และแบ่งผลประโยชน์ให้คนจน ตามกองทุนผู้มีรายได้น้อยของ กลต. และผู้ว่า​ราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะคู่กับเอกชน โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณภาครัฐอย่างเดียว แม้จะมีงบประมาณท้องถิ่น 35% หรือ 28% ก็ไม่มีปัญหา โดยกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนอย่างกระทรวงคมนาคม ช่วยศึกษาความเป็นไปได้ การขออนุญาตต่างๆ ต่อกระทรวงมหาดไทย รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

 

ด้าน สรณัญช์ ชูฉัตร จากบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะจำหน่ายได้ในปีหน้า กล่าวว่า ในฐานะสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่จะมาพัฒนา แต่อยากเริ่มกรุงเทพฯ ใหม่ ที่สตาร์ทอัพอยู่ได้และอยากอยู่ และเพื่อให้เป็นเมืองที่ไม่ได้มีแค่การท่องเที่ยว แต่เป็นเมืองที่การเติบโตของเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต พร้อมยกตัวอย่างเมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ที่ลงทุนให้สตาร์ทอัพ เพราะเห็นว่าคือโอกาสที่เมืองจะฟื้นคืน โดยเฉพาะจากผลกระทบของโควิด-19 และการลงทุนกับสตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้นแล้ว ภาครัฐก็ยังเก็บภาษีได้อีก 

 

สรณัญช์เสนอ 5 ข้อ เพื่อให้รัฐใช้ประโยชน์หรือสนับสนุนสตาร์ทอัพในการพัฒนากรุงเทพมหานคร คือ 

 

  1. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม เพราะบางทีก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร
  2. นำปัญหาต่างๆ ออกมาเปิดเผยให้สตาร์ทอัพเข้าใจปัญหา
  3. เปิดเผยกระบวนการและความคืบหน้าให้ประชาชนมีส่วนร่วม
  4. เริ่มให้เล็กๆ ทดลองหลายๆ กระบวนการ ลองผิดลองถูกได้ อาจจะยังไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง แต่เป็นโครงการทดลองวิจัยต่างๆ ให้พื้นที่การสนับสนุน เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้ามาทำงานได้
  5. เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ต่อยอดโอกาสต่างๆ ให้กันและกัน เช่น สตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีเข้ามา ส่วนภาครัฐสนับสนุน โดยไม่ต้องแข่งขันกับสตาร์ทอัพ

 

นอกจากนี้สรณัญช์ยังมองว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างหรือวินมอเตอร์ไซค์สามารถร่วมมือกับภาครัฐ หรือภาครัฐยกระดับให้การขนส่งสาธารณะมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ทางสตาร์ทอัพเป็นผู้ผลิต ภาครัฐดำเนินการเชิงนโยบาย

 

 

ในส่วนของ วิชัย อริยรัชโตภาส กรรมการพัฒนาชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กทม. ระบุว่า การพัฒนาต้องหวังผลระยะยาว ประชาชนมีส่วนร่วม ภาครัฐเติมเต็มส่วนที่ขาด มีความยั่งยืนไม่ทำลายความวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชุมชน มีกลไกและระบบช่วยประคับประคอง สนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อยให้มีอาชีพ โดยเห็นว่าหน้าที่ของรัฐคือให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน ไม่ใช่ออกกฎหมายควบคุม แล้วให้ประชาชนขออนุญาตทุกๆ เรื่อง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ และสนับสนุนให้ข้าราชการใช้บริการสาธารณะ 

 

นอกจากนี้สวนสาธารณะและสถานที่ต่างๆ ควรออกแบบให้เอื้ออำนวยต่อคนพิการด้วย เพราะผู้พิการไม่ใช่ ‘สปีชีส์’ ที่ภาครัฐต้องนึกถึงเป็นลำดับสุดท้าย แต่คือประชาชนผู้เสียภาษีเช่นกัน 

 

วิชัยกล่าวถึงกรณีผู้สูงอายุ นักศึกษา และผู้ด้อยโอกาส โดยเห็นว่าถ้าไม่เรียนรู้หรือปรับตัว ในอนาคตจะอยู่ยากขึ้น ดังนั้นต้องช่วยให้คนเหล่านี้ไม่ให้ถูกกระแส New Normal กวาดล้างหายไป ต้องมีศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์การเรียนรู้ อบรมพัฒนาอาชีพที่สอดคล้อง และหาพื้นที่ขายหรือตลาดให้ โดย กทม. จัดหาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทำเป็นพื้นที่ผ่อนผัน ให้ชาวบ้านค้าขายได้โดยไม่ต้องเก็บค่าเช่า ให้แต่ละคนรับผิดชอบความสะอาดพื้นที่ ส่วน กทม. แค่จัดระเบียบ โดยวิธีเอาบทเรียนที่เคยกวาดล้างสตรีทฟู้ดเมื่อหลายปีที่แล้วมาปรับปรุงแก้ไข ให้ได้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันได้ และทำให้กลับมาเป็นเสน่ห์ของ กทม. รวมถึงเป็นจุดเด่นการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศด้วย

 

ขณะที่ เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอ ZAAP Party ธุรกิจด้านการจัดอีเวนต์ กล่าวว่า ขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงของวัยรุ่นเพื่อจะบอกว่าจริงๆ กทม. มีอีกหลายมิติ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้นได้ และมองว่าการจำกัดเวลาสถานบันเทิงหรืองานรื่นเริงต่างๆ ไม่เกินเที่ยงคืนหรือตีสองนั้นยังเป็นอุปสรรคและเสียโอกาสทางรายได้ โดยงานอีเวนต์หนึ่งงานไม่ได้มีแค่ส่วนงานเดียว โดยยกตัวอย่าง ‘งานวัด’ ที่มีร้านค้าจำนวนมากเปิดขาย รวมถึงรถจักรยานยนต์รับจ้างและอื่นๆ ได้ประโยชน์ ขณะที่วัยรุ่นมีความคิดสร้างสรรค์สามารถออกแบบงานดึงดูดผู้ร่วมงานได้จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยสนใจงานลักษณะนี้ มีแต่เอกชนดำเนินการ ส่วนงานเปิดร้านขายของต่างๆ ของภาครัฐ กระจุกตัวทั้งแง่ผู้ค้าและสถานที่ ซึ่งไม่ทั่วถึงและไม่สะดวกในการไปจับจ่ายใช้สอยของผู้ที่สนใจ

 

เทพวรรณระบุด้วยว่า การท่องเที่ยวและศิลปะรูปแบบใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ กทม. ยังไม่มีพื้นที่ให้ พร้อมยืนยันว่า ถ้าภาครัฐจัดที่ให้ งานอีเวนต์สามารถสร้างรายได้ให้ผู้จัดงาน ผู้ค้า ผู้ขาย และนำรายได้เข้าประเทศได้ด้วย แต่ปัจจุบันเงื่อนไขกฎระเบียบต่างๆ จะเป็นอุปสรรค รวมถึงนโยบายของทางภาครัฐที่ไม่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง แม้แต่ผับ บาร์ ของไทยติดระดับท็อป 10 ของเอเชียหลายแห่ง ซึ่งถือว่าประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในแง่นี้เท่าที่ควรและน่าเสียดายโอกาส พร้อมกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่ควรปิดโอกาสคนกลางคืน เพราะคนใช้ชีวิตกลางคืนมีจำนวนมาก

 

 

ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ซีอีโอ JIB Digital Consult ระบุว่า ทั้ง Facebook Google มีรายได้มหาศาล มีสินทรัพย์ก็คือ ‘ข้อมูล’ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคทั้งรับและให้ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งปัจจุบันการใช้ Data หรือข้อมูลในยุคดิจิทัล จะลดการ ‘มโน’ หรือคิดไปเองในการตัดสินใจ และความเร็วกับเรียลไทม์ของ Data สำคัญมาก เพราะทำให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบเรื่องต่างๆ และพยากรณ์สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที  

 

ธรรมธีร์พร้อมแนะนำการตัดสินใจทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน 2 ข้อ คือ

 

  1. ถามตัวเองตลอดเวลาว่าการตัดสินใจนี้เป็นไปตามข้อมูลหรือคิดไปเอง
  2. ข้อมูลรอบด้านหรือไม่ ยิ่งมีข้อมูลรอบด้านหลายมิติ การตัดสินใจก็จะถี่ถ้วนขึ้น

 

ธรรม์ธีร์ระบุด้วยว่า แม้นักการเมืองหรือตัวแทนประชาขนและภาครัฐมีข้อมูลทั้งหมดในการตั้งคำถามและหาคำตอบในเรื่องต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือจะคิดเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาหรือไม่ 

ส่วนตัวอยากเห็นระบบบริหารข้อมูลจริงเพื่อประชาชนทุกคน เป็นระบบที่ช่วยให้ประชาชนสะท้อนปัญหาสู่ภาครัฐ ตรวจสอบการใช้อำนาจ หรือเสนอนโยบายผ่านแพลตฟอร์มได้ จะนำสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุด พร้อมยืนยันว่า การให้ข้อมูลกับประชาชนก็คือการให้พลังกับประชาชน และเมื่อประชาชนมีพลังมากพอ ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

 

ต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย จากบริษัทเลิฟอันดามัน ระบุว่า ประเทศไทยสามารถนำความแตกต่างของกรุงเทพฯ ออกมาขายได้ โดยไม่จำเป็นต้องลอกแบบต่างประเทศ โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดที่เป็นเสน่ห์การท่องเที่ยว แต่อาจดึงโมเดลต่างประเทศมาไว้เพื่อเตรียมการ เมื่อหมดโควิด-​19 หรือไทยเปิดประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้ และหากกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวง ไม่สามารถเป็นแม่แบบได้ เมืองอื่นๆ ก็ไม่สามารถเดินทางตามได้ ในขณะที่เมืองเก่าที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกยกระดับให้มีเสน่ห์ได้ ตนจึงอยากเห็นทั้ง 50 เขตใน กทม. กับถนนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ อย่างน้อยต้องฟื้นฟูสตรีทฟู้ดและสร้างสตรีทอาร์ตขึ้นมาประจำแต่ละเขตและอื่นๆ

 

ต่อพงษ์ฝากถึงผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า “ถ้าคุณมองทุกอย่างเป็นกฎ 1-2-3-4 แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนหรือสร้างโอกาสสร้างรายได้ กฎเหล่านั้นต้องถูกแก้” โดยต้องสร้างกฎใหม่ให้ประชาชนอยู่ได้และต้องมีรายได้ด้วย

 

ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐมีหลายนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ไม่มี Action Plan หรือไม่นำสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้

 

 

และปิดท้ายที่ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีกฎหมายและเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติและสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ 

 

ในส่วน Sex Worker ในไทยมีอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน ใน กทม. มี 10,000 กว่าคน ทั้งชาย หญิง และ LGBT สร้างรายได้ให้ประเทศปีละล้านบาท แต่ภาษีเหล่านี้ไม่เคยกลับมาหา Sex Worker เลย พร้อมยืนยันว่า อาชีพ Sex Worker มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่การค้ามนุษย์ เพราะเป็นการตัดสินใจเลือกของผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว 

 

ศิริศักดิ์เรียกร้องในประเด็นนี้ คือ 

  1. ยกเลิกกฎหมายค้าประเวณี เพราะมีกฎหมายอื่นๆ ทั้ง พ.ร.บ. เด็ก และการค้ามนุษย์ ที่ดูแลได้
  2. คุ้มครองพนักงานบริการ (Sex Worker)​ ตามกฎหมายแรงงาน โดยไม่ต้องให้ลงทะเบียน 
  3. ร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศ 

 

ส่วนประเด็น LGBT นั้นสถานบริการบางแห่งไม่ยอมให้กะเทยเข้าใช้บริการ สภากาชาดไม่รับการบริจาคเลือดจากเกย์-กะเทย และมีการเลือกปฏิบัติอีกหลายอย่าง พร้อมเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศสภาพ ที่ไม่ใช่แค่ชายกับหญิงเท่านั้น การเข้าถึงฮอร์โมนของผู้ต้องขังในเรือนจำที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องความสวยความงาม แต่เป็นเรื่องสุขภาพ

 

สำหรับเรื่องการศึกษานั้นเรียกร้องให้ต้องแก้ไขหลักสูตรแกนกลาง ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ ยุติการปิดกั้นไม่ให้คนข้ามเพศเข้าทำงาน ต้องมีวันลาหยุดในการผ่าตัดแปลงเพศ ในลักษณะเหมือนกับการลาคลอดบุตร และอยากให้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบของห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศสภาพ รองรับกลุ่มหลายทางเพศด้วย รวมทั้งเสนอว่า ไทยต้องมี Thailand Pride โดยจัดที่ กทม. และระบุลงในปฏิทินเป็นเทศกาล ให้สมกับสมญานามว่า ‘สรวงสวรรค์ของ LGBT’ อีกด้วย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising