×

กทม. ชวนประชาชนทำแบบสำรวจ ข้อมูลที่อยากรู้ ย้ำต้องเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
22.08.2022
  • LOADING...
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

วานนี้ (21 สิงหาคม) ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, ทีมงาน Thai Tech Communities และประชาชน ร่วมงานเสวนา The Road to Tech: เส้นทางสายงานในบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในบางกอกวิทยา เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำเดือนสิงหาคม 2565 ของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ Thai Tech Communities 

 

ศานนท์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายมากว่าจะทำอย่างไรให้วิทยาศาสตร์สนุก ให้คนเข้าถึงเหมือนภาพยนตร์และดนตรี แต่สุดท้ายแล้ววิทยาศาสตร์มีหลากหลายมาก จึงใช้ธีมบางกอกวิทยา แล้วก็แบ่งให้ส่วนต่างๆ ของเมืองมีวิชาที่เข้าร่วมได้ เช่น สวนสาธารณะสามารถจัดเป็นวิชานิเวศวิทยาได้ หรืองานที่เกี่ยวกับสายเทคโนโลยี Coding หรือเกี่ยวกับเด็ก ก็เป็นสิ่งที่บางกอกวิทยาพยายามนำเสนอให้กับพี่น้องประชาชนใน กทม.

 

อีกเรื่องหนึ่งคือเทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญและมีความท้าทายกับเมือง อย่างน้อยๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 

 

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ผู้ว่าฯ กทม. พูดเสมอว่า หน้าที่ของผู้บริหาร กทม. คือทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งที่กทม. เริ่มไปแล้ว เช่น การนำ Traffy Fondue มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ สวทช. พัฒนาไว้ แล้ว กทม. นำมาใช้ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ กทม. จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาต่อไป เช่น การระบายน้ำ การจราจร เรื่องภัยพิบัติต่างๆ 

 

  1. การลดความเหลื่อมล้ำ ปกติเราพูดถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราจะพูดไปข้างหน้า มองไปข้างหน้า แต่แท้จริงแล้วเทคโนโลยีจะไปเก็บคนข้างหลังด้วยได้หรือไม่ เราจะทำอย่างไรให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าถึงคนทุกคนได้จริงๆ เราจะทำเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน แต่ยังมีอีกหลายคนที่เข้าไม่ถึง ซึ่งสิ่งสำคัญคือการศึกษา ทำอย่างไรให้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยีที่นักเรียนใช้ได้ ปัจจุบันโรงเรียนใน กทม. เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีหลายโรงเรียนที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ยังไม่มีแท็บเล็ต ยังไม่มี WiFi ฯลฯ กทม. มีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรนอกจากมองไปข้างหน้าอย่างเดียว จะทำอย่างไรให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถเก็บคนข้างหลังไปด้วยกันได้

 

  1. การดึงคนเก่งไว้ เป้าหมายของเมืองคือการทำให้คนเก่งอยู่กับเมือง เมืองเก่งๆ จะดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามา เช่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น เป็นต้น หน้าที่หลักอีกประการหนึ่ง คือ เราต้องดึงดูดคนเก่ง คนมีความสามารถ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติให้อยู่ในกรุงเทพฯ ให้ได้ ซึ่งหลายๆ ท่านที่มาในวันนี้ก็เป็นบุคคลคุณภาพ งานที่จัดในวันนี้ทำให้คนที่มีคุณภาพทุกท่านยังอยู่ในเมืองนี้ เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้คนเก่งๆ ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อไป

 

ศานนท์กล่าวต่ออีกว่า นอกจากเรื่องเทศกาลแล้ว อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรงคือเรื่อง Open Bangkok หรือ Open Data หน้าที่ของ กทม. ไม่ใช่การสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่สิ่งที่เราต้องทำคือการเปิดข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึง และเชื่อว่าถ้าเปิดแล้วจะมีคนนำไปพัฒนาต่ออีกมากมาย เช่น เอาไปทำ Data Visualization (การแสดงข้อมูลในรูปแบบรูปภาพนิ่งหรือรูปแบบที่มองเห็นและทำความเข้าใจได้ด้วยตา เพื่อให้สามารถเข้าใจข้อมูลได้ง่ายขึ้นและถ่ายทอดสิ่งที่ข้อมูลต้องการสื่อสารอย่างชัดเจน ช่วยอธิบายแนวโน้มทางสถิติ) เอาไปสร้างโปรดักต์ เอาไปคิดโซลูชันต่างๆ 

 

ฉะนั้น หน้าที่ของ กทม. คือการเปิดข้อมูล ทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญให้ได้มากที่สุด ปัจจุบัน กทม. เปิดเผยข้อมูลไปแล้วกว่า 450 Data เปิดด้วยแนวคิดที่ว่า รัฐมีข้อมูลอะไรก็เปิด ดูว่าประชาชนอยากรู้อะไร แล้วเราก็นำมาเปิด ซึ่งเราได้ทำสำรวจอยู่ว่าประชาชนอยากได้ Data อะไร แล้วจะได้นำสิ่งนั้นไปพัฒนาข้อมูลเพื่อนำมาเปิดให้ประชาชนเห็นต่อไป

 

โดยสามารถคลิกตอบ ‘แบบสำรวจความสนใจและมุมมองต่อการเปิดเผยข้อมูลของกรุงเทพมหานคร BMA Open Data Survey’ ได้ที่ https://survey123.arcgis.com/share/cbf00fb6b7894e739597566739bd2748?portalUrl=https://bmagis.bangkok.go.th/portal หรือติดตามผ่านเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

 

สำหรับงาน The Road to Tech: เส้นทางสายงานในบริษัทเทคโนโลยี เป็นงานเสวนาที่จะรวบรวมเอาบุคคลในสายงานต่างๆ ถึง 4 สายงานมาร่วมพูดคุยกัน ประกอบไปด้วยสายงาน Software Development, Product Management, Data and Machine Learning และ Design and Experience เป็นสายงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในบริษัทเทค

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X