ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2533 ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิงส์ จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร หลังมีผู้สนใจยื่นรายละเอียดเพื่อก่อสร้างเพียงรายเดียวก็คือบริษัทโฮปเวลล์
9 พฤศจิกายน 2533 รัฐบาลร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามในสัญญาสัมปทานร่วมกับบริษัทโฮปเวลล์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534
หลักการของโครงการคือบริษัทโฮปเวลล์เป็นผู้ลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง ประกอบการ และบำรุงรักษาระบบรถไฟและถนนยกระดับ โดยโฮปเวลล์จะได้รับสัมปทานเดินรถไฟชุมชนปรับอากาศ (Community Train) และสัมปทานเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่วนยกระดับเป็นรายได้ตอบแทน รวมถึงได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย
แผนกำหนดแล้วเสร็จ 8 ปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ระยะ เงินลงทุน 80,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาในวันที่ 5 ธันวาคม 2542
แต่ปัจจุบันโครงการนี้ได้ถูกทิ้งร้างเหลือเพียงเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ไว้ให้ดูเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลว ซึ่งนอกจากค่าเสียโอกาสมูลค่ามหาศาลของคนไทยแล้ว ล่าสุด (22 เม.ย.) รัฐยังต้องควักภาษีประชาชนจ่ายชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
ภาพประกอบ: Dreaminem