แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 113 ปีที่แล้ว แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำลายมัณฑะเลย์ทั้งเมือง
และแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดจากระยะทางไกล แต่ผลกระทบกลับมีความรุนแรงกับอาคารสูงในกรุงเทพฯ ที่สามารถโยกตัวตามจังหวะของแผ่นดินไหวได้มากกว่าอาคารเตี้ยๆ
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า “มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่ม จัดเป็นอาคารสูงที่อยู่ระยะไกลที่สุดที่มันพังจากแผ่นดินไหว เมื่อเทียบกับสถิติทั่วโลก และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดที่ถล่มจากแผ่นดินไหวด้วย คือ ทั้งสูงที่สุดและอยู่ไกลจากแผ่นดินไหวมากที่สุด เพราะฉะนั้นเรามีสถิติโลกสถิติใหม่ในครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ภูมิใจนัก แต่มันชี้ให้เห็นว่าปัญหาแผ่นดินไหวของไทยอยู่ในระดับที่ต้องใส่ใจพอสมควร”
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 3 รอยเลื่อนหลักที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวและส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ดังนี้
-
รอยเลื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรี
รอยเลื่อนในพื้นที่กาญจนบุรีที่แม้จะยังคงอยู่ในสภาพหลับอยู่ แต่มีศักยภาพที่จะฟื้นขึ้นมาและสร้างแผ่นดินไหวระดับ 7-7.5 ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ เพราะมีระยะห่างเพียง 200 กิโลเมตร
รอยเลื่อนที่มีแนวยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ของเมียนมา จาก มัณฑะเลย์เฉียดย่างกุ้งไปจนถึงทะเล ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 8 จะสามารถกระทบกรุงเทพฯ ได้
-
แนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือก แนวมุดตัวอารากัน
อยู่ฝั่งตะวันตกของเมียนมาและฝั่งทะเลอันดามัน ห่างกทม.มากกว่ารอยเลื่อนสะกาย แต่รอยเลื่อนนี้มีศักยภาพที่จะสร้างแผ่นดินไหวระดับ 8.5-9 ฉะนั้นผลกระทบรุนแรงไม่น้อยกว่าสะกาย
จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เช่น ดร.แครี ซี จากมหาวิทยาลัยคาลเท็กซ์ พบว่า ในอดีตพบว่าบริเวณอารากันสามารถผลิตแผ่นดินไหว วงรอบ 400-500 ปี ดูประวัติการเกิดแผ่นดินไหวพบว่าเคยเกิดระดับ 8.5 หรือใหญ่กว่านั้น ครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ 260 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ทั้ง 3 รอยเลื่อนเป็นสถานการณ์ที่นำมาประเมินผลกระทบที่รุนแรงที่สุด ที่เป็นไปได้ในการเกิดแผ่นดินไหว หากคำนวณระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับอาคารในกรุงเทพฯ ได้ เราก็จะสามารถกำหนดสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดไว้เป็นมาตรฐานในการออกแบบอาคารในกรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวในอนาคตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ทำความรู้จักรอยเลื่อนสะกาย รอยต่อมรณะใจกลางประเทศเมียนมา
- นักวิชาการชี้ แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาไม่มีผลต่อรอยเลื่อนอื่นในไทย