สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหว วันนี้ (28 มีนาคม) ช่วงเวลาประมาณ 13.30 – 14.20 น.
เวลา 13.20 น. เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ที่ประเทศเมียนมา ความลึก 10 กม. ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึง กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะอาคารสูงที่มีการสั่นพ้องกับคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้ประชาชนรับรู้แรงสั่นและวิ่งอพยพออกจากตัวอาคารหลายจุด
เวลา 14.20 น. ศูนย์วิจัยธรณีวิทยาเยอรมัน (GFZ) รายงานเพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวมีขนาด 6.9 แมกนิจูด ที่ละติจูด 21.90°N ลองจิจูด 95.65°E ความลึก 10 กม.
เวลา 14.04 น. ศูนย์วิทยุพระราม 199 รายงานเหตุ อาคารระหว่างก่อสร้างสูงประมาณ 30 ชั้น บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ถล่มลงมา ทั้งหมด เบื้องต้นพบว่ามี ผู้ติดค้างจำนวนมาก ขณะนี้หน่วยงาน ปภ. กำลังเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ
เวลา 13.30 น. รถไฟฟ้า BTS สายสีเหลือง และ สายสีชมพู หยุดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสถานีอยู่ระหว่างตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนจะเปิดให้บริการอีกครั้ง
21:20 น.
กรมอุตุฯ อัปเดตเกิดอาฟเตอร์ช็อกครั้งที่ 39 ขนาด 2.7 ชี้ความรุนแรงสลับขึ้นลง อยู่ที่การปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนแต่ละครั้ง แต่การลดลงของความรุนแรงไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าเหตุการณ์จะสิ้นสุด อาจสังเกตจากความถี่การเกิดที่ลดปริมาณลงของเหตุการณ์
SHORT NEWS: นายกตรวจฯ ศูนย์บัญชาการแผ่นดินไหว กทม. สั่งสแตนบายวิศกรตรวจโครงสร้างอาคาร อำนวยความสะดวกประชาชน 24 ชม.
วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 18.15 น. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย สรวงค์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าเยี่ยมศูนย์บัญชาการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ
ชัชชาติ ได้รายงานกับนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ยังมีการปิดถนนอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตดินแดง ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้เคลียร์เส้นทางการจราจร และทางทหารจะมีการนำรถไปในจุดใหญ่ๆ เพื่อลำเรียงประชาชนออกจากพื้นที่ พร้อมกับเน้นย้ำว่า จะทำความเข้าใจกับประชาชนว่าแผ่นดินไหวที่จะซ้ำและรุนแรงขึ้นนั้นยังไม่มี
สั่งการให้ผู้ว่าราชการ กทม. นำแอปพลิเคชั่น Traffy Fondue ไปปักไว้ในเพจ หรือโทร. 1555 เพื่อให้ประชาชนทราบได้ว่าจุดที่ประชาชนอยู่ปลอดภัยหรือไม่ โดยสามารถส่งรูปเพื่อวิเคราะห์ในเบื้องต้นว่าอาคารที่อยู่ปลอดภัยหรือไม่
ส่วนประชาชนที่ขณะยังอยู่ในตึกสูง หากไม่มีอะไรผิดปกติก็สามารถกลับขึ้นไปอาศัยได้ตามปกติ เนื่องจากจะไม่มีแผ่นดินไหวแรงเท่าเดิมแล้ว
ชัชชาติ กล่าวว่า จะมีการระดมวิศวกรเพื่อมาตรวจสอบอาคารในพื้นที่ กทม.ให้กับประชาชน โดยในคืนนี้ จะมีเจ้าหน้าที่สแตนด์บายอยู่ตลอดเพื่อตรวจดูอาคารต่าง ๆ ว่าปลอดภัยอยู่ในระดับใด ก่อนย้ำว่า เรื่องเร่งด่วนต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ให้เป็นข้อความเดียวกัน และเรื่องการจราจรเนื่องจากมีประชาชนติดค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนร้องขอทหารช่างจากกรมโยธาฯ ให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยแพรทองธาร เชื่อว่า สถานการณ์จะค่อย ๆ คลี่คลาย แต่ขอเวลาอีกสักนิด
18:57 น.
กรมอุตุฯ อัปเดตเกิดอาฟเตอร์ช็อกคร้ังที่ 23 ขนาด 2.9 ชี้ ความรุนแรงสลับขึ้นลง อยู่ที่การปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนแต่ละครั้ง แต่การลดลงของความรุนแรงไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าเหตุการณ์จะสิ้นสุด อาจสังเกตจากความถี่การเกิดที่ลดปริมาณลงของเหตุการณ์
SHORT NEWS: รพ.บางมด อพยพผู้ป่วย 60 เตียงชั่วคราว หวั่นความปลอดภัยอาคาร ก่อนทยอยกลับเข้าที่เวลา 17.00 น.
วันนี้ (28 มีนาคม) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โรงพยาบาลบางมดได้ดำเนินการอพยพผู้ป่วยประมาณ 60 เตียงลงมาที่ลานด้านหน้าโรงพยาบาล เพื่อรอการประเมินความปลอดภัยของตัวอาคาร หลังมีเหตุที่ทำให้ต้องเฝ้าระวังเรื่องโครงสร้างเนื่องจากแผ่นดินไหว
ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้จัดพื้นที่รองรับผู้ป่วยชั่วคราวอย่างเป็นระเบียบ โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาพยาบาลยังคงดำเนินต่อเนื่องระหว่างรอผลประเมิน
ต่อมาในเวลา 17.00 น. ทางโรงพยาบาลได้เริ่มทยอยนำผู้ป่วยกลับเข้าสู่อาคารตามลำดับ หลังมีการประเมินว่าโครงสร้างอาคารมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะใช้งานต่อได้
ภาพ: ฐานิส สุดโต
18:45 น.
ชัชชาติ เผยอาคารสตง.ที่กำลังก่อสร้างถล่ม เป็น 1 ในจุดได้รับความเสียหายมากที่สุดในกทม. มีคนงานติดข้างในประมาณ 83 คน มีผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 2 ราย เร่งช่วยเหลือออกมาได้จำนวนหนึ่ง
SHORT NEWS: อนุทินสั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศรับมือแผ่นดินไหว ตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 17.30 น. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังเกิดแผ่นดินไหว เนื้อหาว่า
เราต้องเตรียมพร้อมทั้งอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานราชการต่างๆ หากเกิดเหตุต้องเข้าถึงพื้นที่ทันที โดยเฉพาะภายใน 24 ชั่วโมงนี้ ต้องเฝ้าระวังเรื่องอาฟเตอร์ช็อก ข้อปฏิบัติต่างๆ ต้อง ประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด
เช่น ห้ามอยู่บนตึกสูง ห้ามใช้ลิฟท์ขณะเกิดแผ่นดินไหว หรืออย่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น อยู่ใต้อาคารสูง เป็นต้น
ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดจังหวัด ปลัดอำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องสแตนด์บายอยู่ในพื้นที่
“ผมในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้รับคำสั่งไปปฏิบัติทันที” อนุทินระบุ
18:27 น.
คมนาคมแจ้งขนส่งทางน้ำยังใช้ได้ ให้เรือด่วนเจ้าพระยา,เรือไฟฟ้า, เรือในคลองแสนแสบ เพิ่มจำนวนเที่ยว+จำนวนเรือ สั่งขยายเวลาเรือด่วนเจ้าพระยา,เรือไฟฟ้า ถึงสองทุ่ม ส่วนเรือในคลองแสนแสบ ขยายเวลาถึงสองทุ่มครึ่ง
18:23 น.
นายกฯ แจ้ง BTS และ MRT กลับมาเปิดเช้าพรุ่งนี้ ต้องตรวจสอบความปลอดภัยก่อน วันนี้สั่งเพิ่มรอบรถเมล์บริการพี่น้องประชาชนแล้ว
18:14 น.
นายกฯ แพทองธาร กำลังเดินทางออกจากกองบิน 6 ดอนเมืองไปดูพื้นที่จตุจักร หลังประชุมสรุปเหตุแผ่นดินไหวเสร็จสิ้นกับทุกหน่วยงาน ทันทีที่กลับจากภูเก็ต
18:02 น.
เวลา 17.30 น. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สั่งเปิด 4 สวนสาธารณะ ‘ลุมพินี เบญจสิริ เบญจกิติ จตุจักร’ ตลอดคืน พร้อมนำรถน้ำดื่ม-รถสุขา ดูแลประชาชนที่พักรอไม่สามารถกลับเข้าที่พักได้
SHORT NEWS: ณัฐพงษ์ลงพื้นที่อาคารถล่ม เรียกร้องหน่วยงานสื่อสารให้ตรงกัน-ทันสถานการณ์ ชี้ไร้ระบบแจ้งเตือน
วันนี้ (28 มีนาคม) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่บริเวณสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร ที่ถล่มลงมาระหว่างก่อสร้าง หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ว่า ได้เข้าไปอัปเดตสถานการณ์พร้อมกับสก. ซึ่งสถานการณ์ด้านในตอนนี้พบว่า ตัวเลขผู้ที่ติดอยู่ด้านในยังไม่นิ่ง จะต้องรอเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นผู้ชี้แจง
พบว่ามีผู้เสียชีวิต 4 ราย และผู้รอดชีวิต 2 ราย ออกมาได้แล้ว 1 ราย และส่งสัญญาณอีก 1 ราย ซึ่งมีอุปสรรคคือการรวบรวมจำนวนข้อมูลหน้างาน ส่วนอุปกรณ์เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้เตรียมพร้อมแล้วและประชาชนก็พร้อมสนับสนุน
ณัฐพงษ์ระบุอีกว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่มีรายงานอาคารร้าว ไม่ปลอดภัยในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนอยากได้รับข้อมูล หน่วยงานควรออกมาให้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงกันและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งนอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมที่เพียงพอของเรา
ส่วนระบบแจ้งเตือนภัยที่เรามีการเรียกร้องมาหลายครั้ง จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับข้อความ และการแจ้งเตือนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ส่วนนี้อาจจะเป็นอีกขั้นตอนที่รัฐบาลต้องออกมาชี้แจงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในฐานะฝ่ายค้าน ขอให้มีการสนับสนุนเบื้องหน้า ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุออกมาให้ได้มากที่สุดก่อน

Reuters รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 3 คนในเมียนมา หลังแผ่นดินไหวทำอาคารมัสยิดในเมืองตองอู พังถล่มลงมาบางส่วน
วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 16.55 น. ปตท. ยืนยันเหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลางในเมียนมา ไม่กระทบการรับส่งก๊าซธรรมชาติ และความปลอดภัยของท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 16.27 น. ก.ล.ต. ประกาศระบบการให้บริการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังให้บริการตามปกติ
วันนี้ (28 มีนาคม) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้สั่งการให้กรมทางหลวงลงพื้นที่ตรวจสอบถนนพระราม 2 โดยพบว่าการสัญจรยังคงอยู่ในสภาวะปกติ แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้ปิดชั่วคราวบางพื้นที่ เพื่อจัดการเศษปูนและใบไม้บนผิวจราจรที่ร่วงจากทางยกระดับที่กำลังก่อสร้าง
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการนำรถตรวจสอบความปลอดภัยลงพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเส้นทางบนถนนพระราม 2 ตั้งแต่ กม.1-6 ซึ่งเป็นจุดที่เป็นกระแสข่าว ใช้งานตามได้ปกติ ไม่มีคลื่นบนผิวถนนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์ทั่วทุกบริเวณอย่างใกล้ชิด เพื่อมุ่งมั่นรักษาความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรก

วันนี้ (28 มีนาคม) ภายหลังเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร กรุงเทพฯ ถล่มลงมาเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว และเจ้าหน้าที่พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ากู้ภัยให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้วนั้นล่าสุดเวลา 16.10 น. ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุและเข้าไปสำรวจดูสภาพความเสียหายของอาคาร

SHORT NEWS: ภูมิธรรมรุดตรวจที่เกิดเหตุอาคารถล่มบริเวณกำแพงเพชร 2 หลังแผ่นดินไหว เบื้องต้นพบเสียชีวิต 3 ราย
วันนี้ (28 มีนาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่บริเวณสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร ที่ถล่มลงมาระหว่างก่อสร้างหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวว่า ปัญหาขณะนี้คือการรวบรวม เนื่องจากไม่สามารถใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ได้จึงต้องส่งผู้ที่เชี่ยวชาญเข้าไปและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ ซึ่งเจ้าของโครงการได้เข้ามาร่วมให้ข้อมูลแล้ว พร้อมสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้เตรียมความพร้อม
ทั้งนี้ กทม. เป็นดินอ่อน ซึ่งบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ถือเป็นจุดที่หนักที่สุด เป็นอาคารสูง 30 ชั้น ต้องเคลียร์ทีละชั้น เบื้องต้นพบเสียชีวิต 3 ราย ยังไม่ยืนยันสัญชาติ ติดอยู่ด้านในเบื้องต้น 81 ราย สามารถช่วยออกมาได้ 1 ราย ซึ่ง กทม. จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ โดยมีทุกหน่วยเข้ามาช่วย รวมถึง 4 หน่วยของทหาร และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลเร่งเคลียร์เส้นทางการจราจรไปยังโรงพยาบาล
ภูมิธรรมระบุด้วยว่า กำลังรอ K9 เข้ามาในพื้นที่และบินโดรนเพื่อสำรวจความเสียหาย พร้อมเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ยกเลิกภารกิจและกำลังเดินทางกลับมาถึงสนามบิน บน.6 ในเวลา 17.00 น.



วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 15.00 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวว่า จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 13.20 น. ส่งผลทำให้ตึกและอาคารสูงในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายหลายแห่งนั้น
ในส่วนของโรงพยาบาลให้ตรวจสอบประเมินโครงสร้างอาคารโดยฝ่ายซ่อมบำรุง หากตรวจสอบอาคารแล้วสามารถกลับเข้าไปได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤต ให้กลับเข้าไปรักษาก่อน ส่วนผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่เร่งด่วน ให้กลับก่อนแล้วนัดหมายใหม่
เวลา 15.33 น. ได้ประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย และให้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้บัญชาการ โดยในเวลา 16.30 ผู้ว่าฯ กทม. จะแถลงประกาศ กทม. เป็นพื้นที่ประสบภัยด้วย
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบอาคารเสียหายหรือมีรอยร้าว สามารถส่งภาพแจ้งได้ที่ Traffy Fondue หรือโทร. 1555

28 มีนาคม) ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาชน กล่าวถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงได้ทั่วประเทศไทยว่า ตนขอแสดงความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) โดยไม่ตื่นตระหนก ผู้ที่อยู่ในอาคารสูงที่ไม่มั่นใจความแข็งแรงควรอพยพออกมาอยู่ในจุดปลอดภัย และติดตามสถานการณ์ข่าวสารอย่างใกล้ชิด
ภัทรพงษ์กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่การแจ้งเตือนสถานการณ์แผ่นดินไหว ณ ขณะเกิดเหตุนั้นสำคัญมาก แต่เหตุการณ์ในวันนี้ประเทศไทยไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ เลย ทุกคนต้องหาข้อมูลด้วยตัวเองทางโลกออนไลน์ โดยตามหลักการแล้วการแจ้งเตือนที่รัฐบาลต้องทำทันที ได้แก่
1. ต้องมีการแจ้งเตือนทันทีให้ประชาชนทราบข้อมูลพื้นฐาน เช่น ขนาดและจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว
2. การรับมือกับเหตุการณ์ตามความรุนแรงของแผ่นดินไหว
3. มีแบบประเมินให้ประชาชนแจ้งกลับถึงผลกระทบในแต่ละพื้นที่
และหากจำเป็นต้องมีการแจ้งเตือนสถานการณ์เพิ่มเติม ได้แก่
1. แจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหรือเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง เพื่อให้ประชาชนในบริเวณนั้นเตรียมพร้อมรับมือและตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเอง
2. แจ้งเตือนแผ่นดินไหวตามหรือ Aftershock
นอกจากนี้ภัทรพงษ์กล่าวว่า ระบบการแจ้งเตือนที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีได้แล้วคือระบบ Cell Broadcast ที่จะส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ทุกเครื่องโดยทันที ซึ่งตนอภิปรายในสภาไปตั้งแต่ปี 2566 แต่มาถึงวันนี้การดำเนินการจากภาครัฐล่าช้ามาก เจอภัยพิบัติหลายครั้ง ประเทศเราก็ยังไม่มีระบบนี้ใช้งาน ขณะเดียวกันการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในวันนี้ก็ไม่มีออกมาเลย หรือจะเป็นเว็บไซต์ของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวก็เจอเหตุเว็บไซต์ล่ม ไม่มีการแจ้งเตือนอีกเช่นกัน
“จากสถานการณ์หน้างานวันนี้ เห็นได้ชัดว่ารัฐผิดพลาดอย่างรุนแรง ขอให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทางผมในฐานะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย จะนำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้ต่อไปครับ” ภัทรพงษ์กล่าว

เมื่อเวลา 15.00 น. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้น ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานด้านคมนาคมทางอากาศหยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมงในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทุกท่าอากาศยานมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามอย่างใกล้ชิด และมีระบบตรวจเช็ก รวมถึงมาตรการป้องกัน ซึ่งทุกฝ่ายมีการฝึกซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

(28 มีนาคม) สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ที่มีศูนย์กลางในประเทศพม่า ส่งผลให้หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะอาคารสูง ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. จึงมีนโยบายขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. พิจารณาให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ทำงานแบบ Work from Home (WFH) ขณะที่มหาวิทยาลัยให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตามความเหมาะสม หากเกิดเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกตามมา
“การ Work from Home เป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยงในเบื้องต้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารที่ทำการของกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด ก่อนอนุญาตให้กลับเข้าทำงานหรือจัดการเรียนการสอนตามปกติ ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานผลการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารให้ทราบโดยเร็ว เพื่อพิจารณามาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น” สุชาดากล่าว

วันนี้ (28 มีนาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงด่วนภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายจุดในประเทศไทยว่า ได้หารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา ทราบว่าต้นเหตุแผ่นดินไหวมาจากประเทศเมียนมา และพบว่ามีเหตุตึกถล่มบริเวณจตุจักร โดยกระทรวงมหาดไทยตั้งให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ฉุกเฉิน พร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานทั่วประเทศให้เตรียมพร้อมรับมือช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ตนจะรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยด่วน และขอพี่น้องประชาชนห้ามใช้ลิฟต์ลงจากอาคารสูง โดยใช้บันไดเพียงเท่านั้น พร้อมย้ำว่าทุกหน่วยงานรับทราบและเตรียมการทั้งหมดแล้ว ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ อย่ากังวล ระวังตัว พร้อมสั่งให้นักเรียนตามโรงเรียนกลับบ้าน

วันนี้ (28 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมติดตามนโยบายด้านการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ณ ศาลากลาง จังหวัดภูเก็ต หลังรับทราบรายงานแผ่นดินไหวในเมียนมาส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ได้สั่งเบรกปิดการประชุมเพื่อหารือร่วมกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

15:15 น.
ที่เมืองมัณฑะเลย์ ศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมของเมียนมา มีรายงานว่าระบบโทรศัพท์ล่มนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว คาดว่าอาจสร้างความเสียหายให้กับศาสนสถานและโบราณสถานหลายแห่ง
14:50 น.
CNN รายงานว่า เกิดเหตุสะพานอายุ 91 ปีพังถล่มในเมียนมาจากแรงแผ่นดินไหว เป็นสะพานเชื่อมพื้นที่ Ava กับ Sagaing โดยจากภาพฟุตเทจจะเห็นซากสะพาน แต่ตัวสะพานหักโค่นลงแม่น้ำอิรวดี
สื่อ Irrawaddy รายงานด้วยว่า ตึกอาคารในเมืองมัณฑะเลย์ เนปิดอว์ และหลายพื้นที่เกิดการสั่นไหวด้วย ส่วนผลกระทบและความเสียหายยังไม่ทราบแน่ชัด
14:44 น.
ผู้ใช้สื่อโซเชียลจีนในมณฑลยูนนานและกว่างซี ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา รับรู้แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเช่นกัน
SHORT NEWS: กรมอุตุฯ ปรับขนาดแผ่นดินไหวเป็น 8.2 ไม่สามารถคาดการณ์เวลาอาฟเตอร์ช็อกได้ ขอให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
เวลา 14.35 น. ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 13.20 น. ขนาด 7.4 ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาอัปเดตข้อมูลของขนาดแผ่นดินไหวอยู่ที่ 8.2 และหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวแล้ว มีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 7.1 เมื่อเวลา 13.32 น. และยังไม่เกิดอาฟเตอร์ช็อกหลังจากนั้น ย้ำไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนของอาฟเตอร์ช็อกได้ หากมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นเมื่อไร กรมอุตุนิยมวิทยาจะรายงานให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วย

เกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายจุดในกรุงเทพฯ พบหลายอาคารประชาชนรับรู้แรงสั่นสะเทือน วิ่งออกจากตึก
SHORT NEWS: กทม. ตั้งศูนย์บัญชาการรับมือเหตุแผ่นดินไหว ชัชชาตินั่งหัวโต๊ะ
วันนี้ (28 มีนาคม) จากกรณีที่เมื่อเวลา 13.20 น. ศูนย์รายงานแผ่นดินไหวมีรายงานว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ลึก 10 กม. พิกัดประเทศเมียนมา ส่งผลให้ตึกสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โยกไปมา เพราะการสั่นพ้องกับคลื่นความถี่ต่ำนั้น
เวลา 13.30 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งการจัดตั้งศูนย์บัญชาการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว กทม. 1 เสาชิงช้า และนั่งหัวโต๊ะบัญชาการ พร้อมสั่งการทุกเขตสำรวจความเสียหาย รวมทั้งโรงพยาบาลด้วย

SHORT NEWS : แผ่นดินไหวทั่ว กทม. ประชาชนทยอยออกจากตัวอาคาร
วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 13.20 น. ศูนย์รายงานแผ่นดินไหว มีรายงานว่า เหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ลึก 10 กม. พิกัดประเทศพม่า ส่งผลให้ตึกสูงในกรุงเทพฯและปริมณฑลโยกไปมาเพราะการสั่นพ้องกับคลื่นความถี่ต่ำ ทั้งนี้ประชาชนในกลายพื้นได้ทยอยหนีออกตัวอาคาร ทั้งนี้ หลายหน่วยงาน ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก เตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยสั่งการให้ทุกหน่วย จัดเตรียมกำลังพล และอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น เตรียมพร้อมสามารถออกปฏิบัติได้ตั้งแต่บัดนี้ นอกจากนี้ ชัชขาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ได้สั่งการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
13.20 น.
ตึกระหว่างก่อสร้างย่านจตุจักรถล่มลงหลังเกิดแผ่นดินไหว
วันนี้ (28 มีนาคม) เวลา 13.20 น. ศูนย์รายงานแผ่นดินไหวมีรายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ลึก 10 กม. พิกัดประเทศเมียนมา ส่งผลให้ตึกสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โยกไปมา เพราะการสั่นพ้องกับคลื่นความถี่ต่ำนั้น
ต่อมามีรายงานว่า พบอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในย่านจตุจักรพังถล่มลงมาทั้งหลังจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
