วันนี้ (16 สิงหาคม) จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ลงเรือตรวจการจัดเก็บมูลฝอยและวัชพืชทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลว่า ในช่วงน้ำหลากแม่น้ำเจ้าพระยาจะรับน้ำมาจากทางเหนือเป็นจำนวนมาก หากสังเกตจะเห็นว่าน้ำเริ่มเป็นสีแดง
ขณะเดียวกันจะมีผักตบชวาลอยตามลงมาด้วย ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตบางนา ระยะทาง 33.25 กิโลเมตร และคลองบางกอกน้อย ระยะทาง 4.20 กิโลเมตร สำนักสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการจัดเก็บมูลฝอยและวัชพืชที่ลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือจัดเก็บมูลฝอยปฏิบัติงานได้ทั้งหมด 53 ลำ มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 172 คน ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. จัดเก็บขยะได้ประมาณ 11 ตันต่อวัน ถ้าในช่วงน้ำหลากบางครั้งจัดเก็บขยะได้ถึง 15 ตันต่อวัน แบ่งเป็นผักตบชวาประมาณ 99% ที่เหลือจะเป็นพลาสติกหรือขอนไม้ที่ลอยมากับน้ำ
ด้านจักกพันธุ์กล่าวว่า เรื่องการระบายน้ำเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพฯ ถ้าทุกคนร่วมมือกันไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ระบบการระบายน้ำก็จะดียิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาขยะอุดตันตามสถานีสูบน้ำ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังได้ หากประชาชนมีความประสงค์จะทิ้งขยะชิ้นใหญ่ สามารถติดต่อฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตในพื้นที่ เพื่อดำเนินการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ในหมู่บ้านหรือตามจุดนัดทิ้งในแต่ละสัปดาห์