งานดีไซน์ระดับชาติอย่าง Bangkok Design Week 2018 ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้มีแค่ไฟตามตรอกซอกซอยย่านตลาดน้อยให้เราได้ไปถ่ายรูปลง Instagram ทว่าทีเด็ดอีกอย่างของงานคือ International Workshop และ International Symposium ที่รวบรวมมันสมองจากทั่วโลกมาตีแผ่ภาพอนาคตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เราทุกคนพร้อมปรับตัวให้เท่าทันจังหวะความเคลื่อนไหวใหม่ๆ และ 2 ใน 7 นักคิด นักสร้างสรรค์ ที่เดินทางมาร่วมในการชุมชนทางความคิดครั้งนี้ ได้นำเสนอเนื้อหาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
เริ่มที่คนแรก โคเวอร์ พัว (Kaave Pour) Creative Director ของ SPACE10 ศูนย์วิจัยด้านการใช้ชีวิตในอนาคตของ IKEA ที่มุ่งออกแบบวิถีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเทรนด์ระดับโลก เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร การขยายตัวของความเป็นเมือง สุขภาพ และสุขภาวะ
โคเวอร์ พัว ได้เล่าถึงแนวคิดในการทำงานของ SPACE10 ว่า SPACE10 ก่อตั้งขึ้นในฐานะคลังสมองอิสระของ IKEA มีบทบาทหลักในการทำวิจัยและทดลองว่า มนุษย์เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า SPACE10 เจาะลึกไปยังอนาคตที่มีความเป็นไปได้จริงใน 3 แนวคิดหลักคือ สังคมหมุนเวียน (Circular Societies) การอยู่ร่วมกัน (Coexistence) และการใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างคนและสังคม (Digital Empowerment)
ในปี 2030 อนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งมนุษย์ถือเป็นคนผลักดันให้เกิดนวัตกรรม เมื่อประชากร 1,200 ล้านคนต้องอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น มีการแบ่งปันกันมากขึ้น ทุกคนพร้อมที่จะแบ่งปันใช้ของร่วมกับคนอื่น นี่คือตัวอย่างที่เราคิดถึงอนาคตข้างหน้า ซึ่งคนที่เริ่มจินตนาการถึงอนาคตก็จะเป็นคนที่เริ่มสร้างอนาคตจริงขึ้นมาได้
นอกจากนั้น โคเวอร์ พัวยังชวนเหล่าดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่มาทำเวิร์กช็อปค้นหาคำตอบของการออกแบบเทคโนโลยีให้มีความเป็นมนุษย์และสำรวจประเด็นเชิงจริยธรรมไปพร้อมๆ กัน เพราะโลกแห่งอนาคตที่ระบบดิจิทัลเชื่อมโยงแทบทุกชีวิตและสรรพสิ่งเข้าด้วยกันเดินทางเข้ามาใกล้ตัวเราแล้วจริงๆ
และอีกหนึ่งดีไซเนอร์ระดับโลกอย่าง แซม บารอน (Sam Baron) ผู้ก่อตั้ง Fabrica ดีไซน์สตูดิโอจากอิตาลี ซึ่งได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเอพี ไทยแลนด์
ในโครงการล่าสุดอย่าง Space Scholarship เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาร่วมงานได้เกิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการออกแบบที่อยู่ในอนาคต
หลังจบการบรรยาย THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับแซมเกี่ยวกับทิศทางของการออกแบบที่อยู่อาศัยในอนาคต ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับโครงการล่าสุดที่เขาได้ถูกชักชวนจากคุณเป๋า-สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้บริหารเอพีมาร่วมออกแบบ ‘ทุนการศึกษา’ ในรูปแบบพื้นที่พักอาศัยให้กับนักศึกษาจากต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร
การพูดคุยกับแซมเริ่มต้นเมื่อเขาเล่าถึงดีเอ็นเอของ Fabrica ที่ทำให้เราเห็นภาพของงานที่พวกเขาทำชัดเจนมากขึ้น
“Fabrica คือดีไซน์สตูดิโอที่รวบรวมนักออกแบบรุ่นใหม่จากทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน ความหลากหลายจึงเป็นเหมือนดีเอ็นเอของเรา การรวมตัวของนักออกแบบจากต่างที่ต่างถิ่นทำให้ไอเดียของเราสดใหม่เสมอ บังเอิญโครงการนี้ของเอพีก็ตรงกับดีเอ็นเอของเราด้วย เพราะมันคือการรวมเอาเด็กๆ จากต่างภูมิลำเนาให้มาใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกัน จุดนี้แหละที่พาไปสู่โจทย์สำคัญของเรา นั่นคือการออกแบบจุดสมดุลที่จะทำให้เด็กๆ จากต่างพื้นเพ ต่างวัฒนธรรมมาอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข” แซมกล่าว
การออกแบบพื้นที่ให้ผู้คนจากต่างพื้นเพได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่คงไม่ใช่แค่สำหรับทีมจาก Fabrica เพราะแซมเองยังมองว่า ในอนาคตโจทย์การออกแบบลักษณะนี้จะกลายมาเป็นเทรนด์ที่นักออกแบบทั่วโลกต้องรับมือ “แน่นอนว่าในอนาคตพื้นที่ในการอยู่อาศัยจะน้อยลงเรื่อยๆ มันจึงเป็นที่มาของแนวคิด Co-Living Generation
แนวคิดที่ว่าด้วยการใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่ต้องตามมาด้วยคือประชาธิปไตยในพื้นที่ เรื่องนี้สำคัญมาก แม้ว่าพื้นที่จะเป็นของส่วนรวม แต่ทุกคนยังต้องมีพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งตัวตนหน้าที่ของนักออกแบบคือการทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ฟังก์ชันในพื้นที่ร่วมกันได้ในแบบของตนเอง”
ทางฝั่งเอพี ไทยแลนด์ คุณสรรพสิทธิ์ยังได้ยกตัวอย่างให้เราเห็นว่า การออกแบบจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้พื้นที่อยู่อาศัยร่วมอย่างเท่าเทียมกันได้อย่างไร “เดี๋ยวนี้ความเป็นส่วนตัวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่ปิดแล้ว แม้ว่าคุณจะนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะเดียวกันกับคนอื่น คุณก็สามารถรู้สึกเป็นส่วนตัวได้จากฟังก์ชันเจ๋งๆ อย่างลิ้นชักเสริมใต้โต๊ะหรือไม้กั้นที่เลื่อนได้”
คุณสรรพสิทธิ์อธิบายก่อนจะเสริมว่า “ผมคิดว่าความใหญ่ของบ้านไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่อีกต่อไป แต่ฟังก์ชันที่แฝงอยู่ในพื้นที่ต่างหากที่สำคัญ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการออกแบบที่ชาญฉลาดจึงสำคัญมากสำหรับที่อยู่อาศัยในอนาคต”
ทว่าเทคโนโลยีก็ไม่ใช่คำตอบเดียวของทุกๆ โจทย์ในการออกแบบเสมอไป การเรียนรู้วัฒนธรรมก็ถือเป็นอีกอย่างที่จำเป็นต้องคำนึงถึง ยิ่งในการทำงานที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านวัฒนธรรมอย่างโครงการนี้ “ผมยอมรับว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็ไม่สามารถพึ่งพามันเพียงอย่างเดียวได้ อย่างในโครงการนี้ ทีมของผมต้องทำความเข้าใจรายละเอียดยิบย่อยของวัฒนธรรมที่นี่ที่แตกต่างกับที่ยุโรปอย่างสิ้นเชิง บางอย่างที่เราไม่ได้มองว่าเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ อาจเป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับเด็กที่นี่ เช่นเรื่องการใช้ห้องน้ำและการนอน พูดง่ายๆ ก็คือเราต้องเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง ก่อนจะใช้การออกแบบเข้ามาช่วยแก้ไขตามโจทย์”
“เหมือนจะฟังดูขัดๆ กัน แต่สุดท้ายเราก็สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์พวกนั้นได้อีกทีหนึ่ง อย่างในห้องขนาด 34 ตารางเมตรที่เราให้เด็ก 4 คนมาอยู่ร่วมกันเนี่ย เราจะมาออกแบบตารางชีวิตเป๊ะๆ ว่าในขณะที่คนหนึ่งกำลังทำการบ้าน อีกคนหนึ่งต้องไม่ดูทีวีหรือทำอะไรให้เกิดเสียงไม่ได้ เราเลยเอาวิธีคิดใหม่มาออกแบบรางเลื่อนติดแนวผนังรอบห้องเข้ามาช่วยเรื่องนี้ เด็กๆ จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตมากมายขนาดนั้น พวกเขาจะหาความเป็นส่วนตัวได้แม้จะต้องอยู่กันหลายคนในพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร” คุณสรรพสิทธิ์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนอีกครั้ง “พูดง่ายๆ คือวิธีคิดการออกแบบใหม่ๆ จะเชื่อมให้คนจากต่างวัฒนธรรมอยู่ด้วยกันได้”
มันอาจถึงเวลาแล้วที่คนเมืองอย่างเราจะต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราได้ใช้พื้นที่อยู่อาศัยที่เรามีอย่างชาญฉลาดแล้วหรือยัง? จำเป็นจริงหรือที่จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกเป็นแสนเป็นล้านเพื่อให้ได้พื้นที่ที่กว้างขึ้นในยุคที่ ‘ความใหญ่ของบ้านขึ้นอยู่กับวิธีคิดในการพัฒนาฟังก์ชันไม่ใช่พื้นที่’