วันนี้( 8 สิงหาคม) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รอง ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร กทม. ว่าการประชุมวันนี้ เป็นการหารือใน 2 เรื่องหลัก คือการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรของ กทม. และการปรับสัดส่วนลูกจ้าง กทม.
โดยหารือใน 3 ประเด็น คือการปรับระดับชั้นงานของลูกจ้างประจำ คือการปรับเพิ่มฐานเงินเดือนในลูกจ้างประจำ 10 ประเภท การปรับมาตรการเกษียณอายุราชการของลูกจ้างประจำ จะมีการคืนกลับจากลูกจ้างประจำเป็นลูกจ้างชั่วคราวแทน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นสามารถทำงานได้ และการจะใช้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มาช่วยส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ของ กทม.
ส่วนเรื่องที่ 2 ในที่ประชุม ได้หารือกันถึงความคืบหน้า การบูรณาการแผนที่น้ำท่วม ตามนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะระดับเส้นเลือดฝอยที่มีน้ำท่วมตามตรอกซอกซอย ให้ทางสำนักเขตรายงานเข้ามาส่วนกลาง เพื่อให้แสดงข้อมูลในระบบแผนที่ ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลว่าน้ำท่วมจุดใดบ้าง ท่วมนานเท่าไร ฝนตกในพื้นที่เท่าใด เพราะในถนนสายหลัก สำนักการระบายน้ำมีข้อมูลอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังพัฒนาระบบให้เชื่อมต่อกับ Traffy Fondue ด้วย เมื่อเชื่อมระบบเสร็จ จะสามารถดูข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับจุดที่น้ำท่วมได้
วิศณุกล่าวต่อไปว่า ความคืบหน้าการตรวจสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีทั้งหมด 494 แห่ง พบว่าสถานประกอบการไม่ได้มาตรฐาน 83 แห่ง สั่งปิดไปแล้ว 3 แห่ง ระหว่างดำเนินคดี 2 แห่ง แก้ไขเรียบร้อยแล้ว 4 แห่ง อยู่ในระหว่างการแก้ไข 12 แห่ง และอยู่ในระหว่างส่งเรื่องแก้ไข 62 แห่ง ทั้งนี้ ยืนยันว่าสถานประกอบการที่ไม่ผ่านตามระบบมาตรฐาน จะไม่อนุญาตให้เปิดบริการ สถานประกอบที่กำลังปรับปรุงเรื่องของเสียทั่วไปจะให้เวลาปรับปรุง 7 วัน
ด้าน ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อไปสถานบันเทิงใน กทม. จะมีการตรวจ 100% ทุกสัปดาห์ จะเป็นการตรวจทั้งมาตรการโควิด และตรวจด้านอาคารไปพร้อมๆ กันอย่างใกล้ชิด และจะมีการประชุมสรุปงานทุกวันอังคาร
ขณะที่ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตามนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ กทม. จำเป็นต้องกวดขันมากขี้น โดยเฉพาะหลังโควิด สถานประกอบการเปิดมากขึ้น จึงต้องตรวจสอบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารทั้งหมด และลักษณะการใช้พื้นที่ ดังนั้น 83 แห่งที่ตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน จะมีช่วงเวลาให้ปรับปรุงแก้ไข บางรายสามารถแก้ไขได้จะตักเตือนด้วยวาจา ส่วนรายที่เห็นว่าผิดแน่ๆ เป็นอันตรายก็จะให้ปิด ถ้าไม่มีการแก้ไขก็ไม่สามารถอนุญาตให้เปิดบริการได้