×

ชาว กทม. คิดเห็นอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลง ‘ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ’

29.02.2024
  • LOADING...

นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพมหานครได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อวางแผนจัดทำ ‘ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)’ ได้มีผู้ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 รวมทั้งสิ้น 8,991 คน แบ่งเป็นการยื่นในวันประชุม 968 คน ยื่นผ่านเว็บไซต์ 433 คน และยื่นกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 7,590 คน

 

แต่เดิมโอกาสสุดท้ายที่จะเปิดรับข้อเสนอแนะจากประชาชนคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล็งเห็นว่าควรขยายเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียกับการเปลี่ยนแปลงผังเมืองครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น โดยขยายเวลารับฟังออกไปอีก 6 เดือน ให้สิ้นสุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2567

 

THE STANDARD รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่เสนอเข้ามาที่กรุงเทพมหานครว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรบ้างกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบผังเมืองกรุงเทพฯ ในครั้งนี้

 

ความเห็นต่อผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

 

  • คงการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภท ‘อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย’ ในบริเวณพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ไว้ แทนการเปลี่ยนเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก, พาณิชยกรรม
และสถาบันราชการฯ
  • ทบทวนการกำหนดบริเวณพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการบางราย
  • ยกเลิกพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันออก (พื้นที่น้ำหลาก) และส่งเสริมให้มีการพัฒนาเช่นเดียวกับพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันตก (พื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม) 
  • ควบคุมหรือยกเลิกกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ในเขตพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น
  • กำหนดบริเวณพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับกับการย้ายชุมชนเดิมในพื้นที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่

 

ความเห็นต่อผังแสดงที่โล่ง

 

  • มีแผนการเพิ่มพื้นที่โล่ง (พื้นที่สีเขียว) ในพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ พื้นที่สาธารณประโยชน์ และพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง
  • ยกเลิกการกำหนดให้สนามกอล์ฟเป็นที่โล่งเพื่อนันทนาการ เนื่องจากประชาชนโดยทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
  • กำหนดเป้าหมาย ระยะเวลา และแนวทางการดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียว


 

ความเห็นต่อผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง

 

  • พิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกถนนโครงการและถนนตามพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งมีแนวสายทางที่สร้างผลกระทบจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนเป็นจำนวนมาก
  • แก้ไขปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น ทางเข้า-ออก สะพานข้ามคลอง ฯลฯ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเปลี่ยนถ่ายการสัญจร เช่น ที่จอดรถยนต์
  • มีระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder System) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจากบริเวณพื้นที่ที่มีระยะห่างไกล
  • ป้องกันการดำเนินการที่ส่งผลต่อการเอื้อโอกาสให้อาคารขนาดใหญ่ก่อสร้างและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีอยู่เดิม
  • แสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ กรมทางหลวง
กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ครบถ้วน

 

ความเห็นต่อผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ

 

  • ขยายพื้นที่การรวบรวมและบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองของกรุงเทพมหานคร
  • ปรับปรุงพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อพื้นที่โดยรอบ และเพื่อให้สามารถนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ได้แก่ สวนสาธารณะ ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิงและกู้ภัย ฯลฯ 
  • เพิ่มสถานพยาบาล และยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)

 

ความเห็นต่อผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

  • พิจารณาถึงผลกระทบจากการกำหนดพื้นที่แหล่งศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในเขตธนบุรีและเขตจอมทอง ที่มีต่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย)
  • พิจารณาเพิ่มเติมการกำหนดให้อนุสาวรีย์ต่างๆ ได้แก่ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
  • ให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรในบริเวณพื้นที่การส่งเสริมและรักษาการเกษตรนาข้าว เกษตรพืชสวน การประมงน้ำจืด และการประมงน้ำเค็มและน้ำกร่อย ในด้านต่างๆ ได้แก่ การตลาด การประกันราคาผลผลิต การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร

 

ความเห็นต่อผังแสดงผังน้ำ

 

  • ประสานการวางและจัดทำแผนผังแสดงผังน้ำระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เพื่อให้เกิดการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
  • ยกเลิกพื้นที่ทางน้ำหลาก (Flood Way) เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำหลากผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ
และจังหวัดสมุทรปราการลงสู่อ่าวไทย
  • ทบทวนการระบายน้ำในพื้นที่นอกคันป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครลงสู่คลองประเวศบุรีรมย์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ
  • จัดทำรายละเอียดของแผนผังแสดงผังน้ำในบริเวณพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมรุนแรง เช่น พระโขนง-บางนา
  • ทบทวนการกำหนดพื้นที่พักน้ำเพื่อการป้องกันน้ำท่วม (แก้มลิง) เนื่องจากบางจุดมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่

 

ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการ

 

  • ทบทวนมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์เกินกว่าประโยชน์ที่สังคมได้รับ
  • ทบทวนมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินสำหรับการจัดให้มีพื้นที่รับน้ำ เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับการดำเนินการให้เป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และความเหมาะสมต่อการปรับเปลี่ยนให้เป็นข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวม
  • มีการตรวจสอบติดตาม และการดำเนินการให้มีบทกำหนดโทษในกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน 

 

ข้อคิดเห็นอื่นๆ

 

  • ปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ การปิดประกาศ และการจัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เป็นไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
  • มีการจัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเป็นแบบการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group)
  • ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อการพัฒนาเมือง การอนุรักษ์เมือง หรือการฟื้นฟูเมือง

 

สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนครั้งนี้เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ. 2565 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

 

ขั้นตอนหลังจากรับฟังความเห็นจะเข้าสู่การประมวลความคิดเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวม ซึ่งนับว่าเป็นเพียงขั้นที่ 6 จาก 18 ขั้นตอน

 

ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

  1. ยื่นทางเว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https://webportal.bangkok.go.th/cpud
  2. ยื่นหนังสือด้วยตนเองที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
  3. ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปยังสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X