วานนี้ (29 มิถุนายน) ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สถานีดับเพลิงและกู้ภัยภูเขาทอง ประธานชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยการจัดเก็บถังดับเพลิงที่เสื่อมสภาพในชุมชนจักรพรรดิพงษ์ และชุมชนวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อคลายความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการจัดเก็บถังดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร
สำหรับขั้นตอนการจัดเก็บถังดับเพลิงทำโดยเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อตรวจสอบว่าถังที่มีอยู่สามารถใช้ได้หรือไม่ หากใช้ได้ก็จะตั้งไว้จุดเดิม
โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของกรุงเทพมหานครจะปูพรมเพื่อตรวจสอบและจัดเก็บถังดับเพลิงที่ใช้ไม่ได้ออกจากพื้นที่ พร้อมกับทำหน้าที่เฝ้าระวังเพลิง สำหรับประชาชนทั่วไปหากสังเกตพบว่าถังดับเพลิงเป็นสนิมหรือบวม สามารถแจ้งมายังกรุงเทพมหานคร โดย โทร. 199 แจ้งผ่านสำนักงานเขต หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue ได้
“ถังดับเพลิงตอนนี้มีหลายที่มา แต่ไม่ว่าจะมาจากไหน เมื่ออยู่ในชุมชนจะเป็นเรื่องของ กทม. ที่ต้องเข้ามาดูแล” ทวิดากล่าว
ทวิดากล่าวต่อว่า ตามหลักแล้วจะต้องมีถังดับเพลิง 5 หลังคาเรือนต่อ 1 ถัง แต่หากแต่ละหลังคาเรือนมีจำนวนคนมาก มีกิจกรรมที่ต้องเฝ้าระวังมาก หรือมีความเสี่ยงมาก ก็อาจต้องเพิ่มจำนวนถังให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยในกรุงเทพมหานคร (BKK Risk Map) สำรวจความเสี่ยงของชุมชน สำรวจผู้ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก โดยให้ทุกเขตลงพื้นที่สำรวจความปลอดภัย จุดติดตั้งสัญญาณเตือนไฟไหม้ เส้นทางเคลื่อนย้าย พร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุทุกชุมชนให้ตรงกับสภาพของแต่ละพื้นที่
สำหรับความแตกต่างของถังดับเพลิงแต่ละประเภท ถังดับเพลิงสีแดง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ถังดับเพลิงบรรจุผงเคมีแห้ง และถังดับเพลิงบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยถังดับเพลิงผงเคมีแห้งจะมีแรงดันที่ 195 PSI. มีเกจวัดแรงดัน สายฉีดมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งเส้น
ส่วนถังดับเพลิง CO2 จะมีแรงดันที่ประมาณ 800-1,200 PSI. ไม่มีเกจวัดแรงดัน เนื่องจากเป็นถังที่มีแรงดันสูง ปลายกระบอกฉีดจะมีลักษณะเป็นกรวย ส่วนถังดับเพลิงสีเขียว ภายในจะบรรจุน้ำยาเหลวระเหยหรือสารอื่นที่อยู่ในสถานะของเหลว มีเกจวัดแรงดัน และถังดับเพลิงสเตนเลส ภายในจะบรรจุโฟมหรือน้ำ ซึ่งถังดับเพลิงประเภทนี้จะไม่มีอยู่ในชุมชน ส่วนถังดับเพลิงที่อยู่ในชุมชนปัจจุบันจะมีถังดับเพลิงผงเคมีแห้ง (สีแดง) และถังดับเพลิงน้ำยาเหลวระเหย (สีเขียว)
ทวิดากล่าวว่า ในส่วนของการลงพื้นที่เพื่อตรวจความเรียบร้อยของถังดับเพลิงในชุมชน จะปูพรมดำเนินการทั้ง 50 เขต โดยชุมชนใดที่มีการจัดเก็บถังดับเพลิงที่เสื่อมสภาพไป กรุงเทพมหานครจะนำถังใหม่ไปติดตั้งให้โดยเร็ว ส่วนถังที่ยังใช้งานได้จะมีการตรวจสภาพปีเว้นปี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ
โดยจากนี้ ถังดับเพลิงทุกถังจะมีการติด QR Code เพื่อแสดงข้อมูลประเภทของถัง วันเวลาที่ตรวจบำรุงรักษาล่าสุด ตำแหน่งในการติดตั้ง นอกจากนี้จะมีการระบุคุณสมบัติการดับเพลิงของถังดับเพลิงแต่ละถังด้วย ซึ่งหากประชาชนไม่มั่นใจในการใช้งานให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเพื่อขอความช่วยเหลือ
มีรายงานว่า กทม. สามารถจัดเก็บถังดับเพลิงได้รวมทั้งหมด 50 ถัง แบ่งเป็นชุมชนจักรพรรดิพงษ์ 30 ถัง และชุมชนวัดสระเกศ 20 ถัง