×

วิ่งรถเมล์สายใหม่วันแรก คน ‘งง’ เสนอปฏิรูปทั้งทีควร ‘ติดแอร์-วิ่งตรงเวลา’

15.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ทดลองวิ่งรถเมล์สายใหม่วันแรกผู้โดยสารยังสับสน ไม่กล้าขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องตะโกนบอกเลขรถเมล์สายเดิม
  • กรมขนส่งทางบก ใช้รถเก่าแค่ช่วงทดลองวิ่ง ขอเวลา 2 ปีเปลี่ยนผ่านยกระดับรถเมล์ไทย
  • ผู้โดยสารที่ใช้งานจริง ไม่ติดใจกับสายเลขรถแบบใหม่ แต่อยากให้ปรับปรุงสภาพรถเป็นอันดับแรก

     คำว่า ‘ปฏิรูป’ คนไทยคงจะคุ้นเคย เพราะในยุครัฐบาล คสช. ไม่ว่าอะไรก็ต้องปฏิรูป

     และคราวนี้เป็นคิวของ ‘รถเมล์’

     หลังข่าวแผนการปฏิรูปรถเมล์ของกรมขนส่งทางบก เริ่มเผยแพร่ออกไป สิ่งที่ได้กลับมาดูเหมือนจะเป็นเสียงวิจารณ์มากกว่าเสียงชื่นชม โดยเฉพาะการแบ่งโซนเดินรถเมล์ใหม่ การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์จากระบบหมายเลข เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข และหน้าตารถเมล์สายใหม่ที่ทาสีเพิ่มแค่บางส่วนจนดูครึ่งๆ กลางๆ

 

 

     15 สิงหาคม 2560 เป็นวันแรกของการทดลองเดินรถเมล์สายใหม่ 8 เส้นทาง ที่เปลี่ยนเลขสายใหม่ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารสาธารณะ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เบื้องต้นจะใช้เวลาทดลองเดินรถเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 15 กันยายน 2560 เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนมาประเมินและพัฒนาการเดินรถรูปแบบใหม่ 269 เส้นทาง ภายในระยะเวลา 2 ปี

 

8 เส้นทางเดินรถเมล์ช่วงทดลอง

     สาย G21 รังสิต – ท่าเรือพระราม 5 (เทียบเคียงสาย 114 อ.ต.ก. 3 – แยกลำลูกกา)

     สาย G59E มีนบุรี – ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) (เทียบเคียงสาย 514 มีนบุรี – ถนนรัชดาภิเษก – สีลม)

     สาย R3 สวนหลวง ร.9 – สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ (เทียบเคียงสาย 11 อู่เมกา บางนา – มาบุญครอง)

     สาย R41 ถนนตก – แฮปปี้แลนด์ (เทียบเคียงสาย 22 อู่โพธิ์แก้ว – สาธุประดิษฐ์)

     สาย Y59 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน – กระทุ่มแบน (เทียบเคียงสาย 189 สนามหลวง – กระทุ่มแบน)

     สาย Y61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ – สถานีขนส่งจตุจักร (เทียบเคียงสาย 509 สถานีขนส่งจตุจักร – บางแค)

     สาย B44 วงกลมพระราม 9 – สุทธิสาร (เทียบเคียงสาย 54 วงกลมรอบเมืองห้วยขวาง)

     สาย B45 หมู่บ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม – ท่าเรือสะพานพุทธ (เทียบเคียงสาย 73 อูโพธิ์แก้ว – สะพานพุทธ)

     ทั้งนี้ แต่ละเส้นทางจะเดินรถ เส้นทางละ 5 คัน

 

 

     “สำหรับคนที่สับสนเรื่องตัวอักษร เราจึงใช้สีคู่กับตัวอักษร สำหรับใครที่สับสนภาษาอังกฤษก็ให้ดูสี

     สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว

 

ทำไมต้องมีภาษาอังกฤษนำหน้าให้วุ่นวาย ?

     สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD ชี้แจงประเด็นเสียงวิจารณ์เรื่องความสับสนเลขสายรถเมล์ว่า หลักการออกแบบมาจากแนวคิด ‘ระบบโซน’ เราก็กางดูแผนที่ทั้งกรุงเทพฯ เพื่อแบ่งโซนและออกแบบสัญลักษณ์เพื่อสร้างความจดจำให้กับคนทุกระดับ ดังนี้

 

     G (Green)

     พื้นที่โซนสีเขียว คือ เขตการเดินรถที่ 1 และ 2  (ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ)

     R (Red)

     พื้นที่โซนสีแดง คือ เขตการเดินรถที่ 3 และ 4 (ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ)

     Y (Yellow)

     พื้นที่โซนสีเหลือง คือ เขตการเดินรถที่ 5 และ 6 (ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ)

     B (Blue)

     พื้นที่โซนสีน้ำเงิน คือ เขตการเดินรถที่ 7 และ 8 (เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน)

     E (Expressway) >> ทางด่วน กำหนดไว้ด้านหลังต่อท้าย เพื่อป้องกันความสับสน สำหรับเส้นทางที่มีต้นทางปลายทางเดียวกัน แต่บางช่วงของเส้นทางมีการใช้ทางด่วน

 

 

     อธิบดีกรมขนส่งฯ บอกว่า ระบบตัวเลขต้องคงไว้ แต่เพื่อไม่ให้ตัวเลขสับสน เราก็เลยออกแบบให้มีสี แสดงเป็นโซน สำหรับคนที่สับสนเรื่องตัวอักษร เราจึงใช้สีคู่กับตัวอักษร สำหรับใครที่สับสนภาษาอังกฤษก็ให้ดูสี อีกทั้งระบบการแบ่งโซนที่ใช้ตัวอักษรและสีควบคู่กัน เพื่อรองรับการพัฒนาเส้นทางใหม่ ๆ พอมีเส้นทางใหม่เกิดขึ้นในโซนไหนเราก็สามารถรันตัวเลขต่อท้ายตัวอักษรไปได้เลย แต่ถ้าไม่มีตัวอักษร ตัวเลขก็จะกระโดดไปมาข้ามโซนกัน

 

 

     อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ความเห็นของประชาชนจึงสำคัญ

     “ถ้าทุกคนมีความกังวลเรื่องตัวอักษรและมีเสียงสะท้อนว่าควรเป็นตัวเลขอย่างเดียว เราก็จะหยิบเสียงสะท้อนนี้มาพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่”

 

รถเมล์เก่าเอามาทาสีหน้ารถใหม่ อธิบดีชี้ขอเวลายกเครื่อง 2 ปี

     อธิบดีกรมการขนส่งฯ ชี้แจงว่า การทดลองวิ่งคือการเอารถเดิมมาใช้ แต่เป้าหมายของการปฏิรูปนอกจากโครงข่ายการเดินรถที่ตอบโจทย์แล้ว มาตรฐานของรถก็ต้องถูกยกระดับด้วย ขสมก. ก็ต้องปรับเปลี่ยนรถให้ได้มาตรฐาน ส่วนรถเอกชนต้องมาขออนุญาตตรงกับกรมขนส่งทางบก ซึ่งกรมฯ ก็จะกำหนดคุณสมบัติของรถที่จะนำมาให้บริการ

 

 

     สำหรับการปฏิรูปรถเมล์จะมีช่วงเปลี่ยนผ่าน 2 ปี แต่รถตัวใหม่

     ที่จะเห็นก่อนคือ 2 เส้นทางใหม่ ได้แก่ สายที่ R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ – โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) และสายที่ Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา – สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน)

     โดยทั้ง 2 เส้นทางนี้ได้ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการเดินรถระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม – 8 กันยายนนี้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐาน สภาพรถ รูปแบบการให้บริการ การบริหารจัดการที่เป็นระบบที่จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เช่น การติดตั้งระบบ GPS Tracking, E-Ticket หรือระบบตั๋วร่วมตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงรองรับบัตรผู้มีรายได้น้อยของกระทรวงการคลัง

 

เสียง ‘ชื่นชม – ข้อเสนอแนะ’ จากประชาชน

     THE STANDARD ทดลองขึ้นรถเมล์สาย B44 ซึ่งวิ่งทดแทนสาย 54 ที่หน้ากระจกรถเมล์มีป้ายขนาดใหญ่บ่งบอกเลขสายเดิมชัดเจน ขณะรถวิ่งผ่านป้ายต่างๆ เจ้าหน้าที่ ขสมก. ส่งเสียงตะโกน “สาย 54 เดิมจ้า” พร้อมบอกเส้นทางที่รถเมล์ผ่านตามสไตล์ที่คนไทยคุ้นเคย

 

 

     ส่วนตามป้ายรถเมล์ รวมถึงในตัวรถ จะติดป้ายอินโฟเทียบเส้นทางระหว่างสายใหม่กับสายเก่า ผู้โดยสารหลายคนยอมรับว่ายังงงกับเลขสายแบบใหม่ แต่ใช้วิธีดูว่ารถเมล์ผ่านจุดหมายที่จะไปหรือไม่

 

 

     แสงรวี บัวศรี อาชีพ ‘พนักงานบริษัท’ บอกกับ THE STANDARD ว่า เมื่อก่อนขึ้นรถไฟฟ้า แต่ช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมาเปลี่ยนมานั่งรถเมล์เพราะประหยัดกว่า แต่ต้องแลกมากับการตื่นเช้าขึ้น

     “ตอนเห็นข่าวว่าจะปฏิรูปรถเมล์ก็นึกว่าจะเปลี่ยนคันใหม่ให้ดีขึ้น แต่พอเห็นจริงๆ อ้าว เปลี่ยนแค่สีด้านหน้าเฉย ๆ มันก็คือคันเดิมที่ทาสีใหม่

     “ปัญหาของรถเมล์คือมันไม่มีเวลาแน่นอน เราไม่สามารถกะเวลาได้ บางวันมารอตอน 8 โมงครึ่ง 9 โมงกว่ายังไม่ได้ขึ้นเลย แต่บางวันรถก็มาถี่ มาติดๆ กันหลายคัน

     “ถ้าเป็นไปได้อยากให้เหมือนต่างประเทศ ที่ป้ายรถเมล์จะมีตารางเวลาบอกว่ารถเมล์สายนี้จะมาถึงเวลานี้ ตอนนี้อยู่ตรงไหนแล้ว อีกกี่นาทีจะมาถึงป้ายเรา น่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่ไม่เคยใช้ จะได้มาใช้รถเมล์กันเยอะๆ” แสงรวี ผู้โดยสารรถเมล์สาย B44 ให้ความเห็น

 

 

     ปริชาต เวลา อาชีพ ‘ค้าขาย’ บอกว่าปกติไม่ค่อยนั่งรถเมล์ เพราะไม่ค่อยได้ไปไหน ไม่รู้มาก่อนเลยว่ารถเมล์คันนี้เป็นรถเมล์เส้นทางใหม่

     “ตอนเห็นหน้ารถเป็นภาษาอังกฤษและตัวเลขก็ ‘งง’ อยู่ (หัวเราะ) เพราะไม่เคยเห็นรถเมล์สายนี้

     “ก่อนขึ้นก็ถามว่าไปอนุสาวรีย์ฯ ไหม? เขาบอก ‘ไป’ ก็เลยขึ้นมา”

     ปริชาติ บอกว่า ถ้าจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ ไม่เป็นไร ก็ใช้ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นรถปรับอากาศแล้วปรับราคาขึ้นนิดหน่อยก็ดี

     “เพราะบ้านเราอากาศร้อน มันไม่ควรจะมีรถพัดลมแบบนี้มาวิ่งแล้ว”

 

 

     ผู้โดยสารรถเมล์สาย B44 คนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) บอกว่า ปกติขึ้นรถเมล์ทุกวัน เวลาขึ้นรถเมล์ก็จะดูป้ายข้างรถว่าผ่านจุดไหนบ้าง ถ้าเขาเปลี่ยนสายรถแบ่งตัวอักษรและสีตามโซนก็เข้าใจได้ เพราะถนนมันไม่ได้อยู่กับที่ มีเส้นทางใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ที่รถเมล์ยังไม่ผ่าน

     “เราควรต้องปรับตัวเพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่คนไทย เรามีต่างชาติมาเที่ยว มาทำงาน คนพวกนี้เขาก็ต้องมีสิทธิ์ขึ้นรถเมล์ด้วยเหมือนกัน

     “ดังนั้นมันก็ต้องปรับ เราจะอยู่กับที่มันก็ไม่ได้”

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X