วันนี้ (9 เมษายน) ความคืบหน้าการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว
ขณะนี้ ทีมปฏิบัติการกำลังเร่งดำเนินการรื้อถอนซากอาคาร โดยเฉพาะในโซน E ซึ่งเป็นส่วนยอดบน เพื่อนำแผ่นปูนและเศษปูนลงมาให้ได้มากที่สุด มีการใช้เครื่องจักรหนักทำงานอย่างเต็มที่ และสามารถขนย้ายเศษซากออกมาได้แล้วประมาณ 26,000 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้รถบรรทุก 21 คัน คาดว่าจะสามารถเคลียร์พื้นที่ด้านบนได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำถึงความหวังในการพบผู้รอดชีวิต และการดูแลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องอาหาร ที่พัก และสุขอนามัย โดยมีการตรวจตราจากสำนักอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการถอนตัวของทีม USAR และ K9 นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน เนื่องจากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และปัจจุบันการทำงานหลักเป็นหน้าที่ของเครื่องจักรหนัก
ด้าน เอกวรัญญู อธิบายถึงการปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุว่า ขณะนี้เครื่องจักรได้เปิดหน้างานในพื้นที่ B3 และ C2 ซึ่งคาดว่าเป็นบริเวณโถงอาคารนอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่จุด A และ D เพื่อเคลื่อนย้ายวัสดุและลดความสูงของอาคารที่จุด E
สำหรับยอดผู้ประสบเหตุล่าสุด มีจำนวน 103 ราย เสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และยังอยู่ระหว่างการติดตาม 72 ราย
ในส่วนของการสำรวจความเสียหายของอาคารอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Traffy Fondue พบว่ามีการแจ้งเหตุอาคารมีรอยร้าวรวมทั้งสิ้น 19,020 เคส แบ่งเป็น อาคารที่ปลอดภัย (สีเขียว) 17,210 เคส อาคารที่ต้องเฝ้าระวัง (สีเหลือง) 387 เคส และอาคารที่ไม่ปลอดภัย (สีแดง) 34 เคส (2 อาคาร) ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 1,389 เคส
ทางกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือแจ้งให้เจ้าของและผู้ครอบครองอาคารดำเนินการประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบแล้วกว่า 5,000 โครงการ โดยมีรายงานว่าอาคารที่ตรวจสอบแล้ว 2,740 โครงการ ปลอดภัยต่อการใช้งาน และมีการรายงานการซ่อมแซมเฉพาะจุด 160 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีหนังสือแจ้งให้ผู้รับเหมา ระงับการใช้เครนจำนวน 201 โครงการ จนกว่าจะมีการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าเครน 123 โครงการ ปลอดภัยแล้ว
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีผู้ลงทะเบียนกับ Airbnb แล้วจำนวน 613 ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นผู้พักอาศัยในคอนโดไลฟ์ ลาดพร้าว แวลลีย์ และคอนโดสกายไรส์ อเวนิว สุขุมวิท 64 จำนวน 436 ครัวเรือน และผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบางและจำเป็นอื่นๆ อีก 177 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักพิงที่โรงเรียนวัดเสมียนนารี ซึ่งมีที่ว่าง 150 ที่ และศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร ซึ่งมีผู้เข้าพัก 70 คน จากทั้งหมด 82 ที่
ในด้านการเยียวยาผู้ประสบภัยตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ (ภายในวันที่ 27 เมษายน 2568) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการรับแจ้งความ ณ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งการประเมินความเสียหายจะเป็นไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ก่อนจะส่งเรื่องไปยังสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่อไป