×

บางกอกคณิกา โลกแฟนซีของโสเภณียุค ร.5

16.05.2024
  • LOADING...
บางกอกคณิกา

ยิ่งใหญ่และสวยงามสมการรอคอยสำหรับ บางกอกคณิกา ซีรีส์เปิดตัวโปรเจกต์ oneD ORIGINAL ซึ่งกำลังจะมีซีรีส์อีก 4 เรื่องที่หยิบยกประเด็นแปลกใหม่ที่ไม่ค่อยเห็นผ่านหน้าจอทีวีขึ้นมาเล่าอย่างน่าสนใจ และหลังจากออกอากาศมา 4 ตอนก็ไม่แปลกใจว่าทำไม บางกอกคณิกา จึงทำหน้าที่คิกออฟโปรเจกต์นี้ เพราะนี่คือซีรีส์ที่รวบรวมความเป็นช่อง one31 เอาไว้เกือบทั้งหมด

 

 

ความน่าสนใจของ บางกอกคณิกา คือการย้อนไปเล่าเรื่องของโสเภณีหรือที่เรียกกันติดปากว่ากะหรี่ ในยุคที่การขายบริการทางเพศยังถูกกฎหมายและต้องเสียภาษีเหมือนอาชีพอื่นๆ แต่แทบไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ แม้แต่การเป็นพยานในคดีต่างๆ โดยเล่าเรื่องราวใน ‘หอบุปผชาติ’ ซ่องโสเภณีชื่อดังในย่านสำเพ็งของ ราตรี (อ้อม-พิยดา จุฑารัตนกุล) ที่มี กุหลาบ (อิงฟ้า วราหะ) กะหรี่ค่าตัวแพงที่มีความฝันอยากเดินทางรอบโลกสังกัดอยู่ ที่นี่ยังมี โบตั๋น (ก้อย-อรัชพร โภคินภากร) กะหรี่ที่ฝันอยากมีความรักเหมือนผู้หญิงทั่วไป และ เทียนหยด (ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา) กะหรี่ฝึกหัดที่ฝันอยากเป็นหมอ

 

ทั้งสามคนวางแผนที่จะเก็บเงินไถ่ตัวเพื่อเดินตามความฝันของตัวเอง โดยมีเส้นตายคือการประมูลพรหมจรรย์ของเทียนหยด ด้วยการจัดแสดงโชว์แบบโสเภณีฝรั่ง แต่ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมายที่ถือว่าเป็นฝีมือของราตรี หากแต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดคือ พระยาจรัล (นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ซึ่งกุมความลับของราตรีเอาไว้ และใช้ให้เธอเป็นหุ่นเชิดหาผลประโยชน์จากเหล่าโสเภณีในซ่อง เรื่องราวดำเนินไปผ่านการต่อสู้ในแบบเพื่อนหญิงพลังหญิงพร้อมๆ กับความลับของราตรีที่กำลังจะถูกเปิดเผย

 

บางกอกคณิกา

 

การเลือกหยิบยกประเด็นโสเภณีขึ้นมาพูดถึงเรียกได้ว่าเหมาะเจาะในยุคที่มีการถกเถียงกันถึงสิทธิ์ของ Sex Worker และเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้ธุรกิจนี้กลับมาถูกกฎหมายเสียที เพราะเอาเข้าจริงๆ การค้าบริการทางเพศเพิ่งผิดกฎหมายในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502-2506) นี่เอง ซึ่งก่อนหน้านั้นกิจการนี้เฟื่องฟูถึงขนาดมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานนี้ด้วย สานต่อจินตนาการจนกลายเป็นภาพสุดอลังการ

 

เปิดฉากด้วยการปูพื้นชีวิตของตัวละครทั้งตัวกุหลาบที่ดูจะมีระดับกว่าคนอื่นๆ จนเหมือนได้แรงบันดาลใจจากโออิรัน (โสเภณีชั้นสูงของญี่ปุ่นที่ขายทั้งศิลปะความบันเทิงและขายบริการ ต่างจากเกอิชาที่ขายศิลปะอย่างเดียว) โบตั๋น กะหรี่ตัวท็อปแต่ก็ต้องกลายเป็นสนามอารมณ์ให้กับคนวิปริตอย่าง ขุนณรงค์ (ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และเทียนหยด เด็กสาวใฝ่รู้ที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ทั้งหมดสะท้อนภาพปัญหาของโสเภณีในยุคนั้นที่ต้องการการยอมรับ ความรัก และโอกาสแตกต่างกันออกไป แต่ดูเหมือนว่าผู้สร้างก็ไม่ได้อยากให้เนื้อหามีแต่ความรันทดหดหู่ด้วยการใส่ความฝันของเด็กสาวเข้าไปในตัวละคร และโยนความเจ็บปวดทั้งหมดไปที่บทของราตรี

 

บางกอกคณิกา

 

ชื่อของราตรีมีนัยสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานและส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน ขณะเดียวกันก็สะท้อนชีวิตหม่นเศร้า สิ้นหวังเหมือนจะไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันของตัวละคร ด้วยถูกกดขี่ข่มเหงจากพระยาจรัล ขุนนางชั้นสูงที่ไม่สามารถเป็นเจ้าภาษีนายอากรธุรกิจโสเภณีได้อีกต่อไป เพราะภาษีโสเภณีถูกส่งตรงเข้าไปที่รัฐเท่านั้น สะท้อนช่องโหว่ทางกฎหมายและชะตากรรมของโสเภณีที่แม้จะเริ่มมีสิทธิ์มีเสียงอยู่บ้างแต่ก็ต้องเจอความฉ้อฉลของคนโดยหยิบจุดอ่อนที่อาชีพโสเภณีแม้จะถูกกฎหมายแต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่ดี

 

นอกจากเนื้อหาแนวดราม่า จุดเด่นอีกอย่างที่ต้องชื่นชมคืองานด้านโปรดักชันทั้งฉาก แสง หรือการกำกับศิลป์ ซึ่งแตกต่างจากโปรดักชันละครที่ผ่านๆ มา ส่วนความยาวที่มีเพียงแค่ 8 ตอนก็ทำให้เนื้อหากระชับขึ้นโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ามีรายละเอียดเรื่องใดตกหล่นไป อย่างไรก็ดี ซีรีส์เรื่องนี้ได้รวบรวมงานถนัดของ One Enterprise เอาไว้เกือบทั้งหมด ทั้งเนื้อหาดราม่า การเล่าเรื่องในรูปแบบกึ่งมิวสิคัลและฉากต่างๆ จนบางตอนเหมือนได้ดูละครเวทีของ Scenario ที่เมืองไทยรัชดาลัย

 

 

ทางด้านการแสดงก็ต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์กับฝีมือของ อิงฟ้า วราหะ ที่แม้จะแสดงแบบจริงจังเป็นเรื่องแรกก็ทำออกมาได้ดีมาก รวมทั้งในพาร์ตการเต้นและการร้องเพลงจนเหมือนพยุงส่วนนี้เอาไว้คนเดียวทั้งเรื่อง จนเรียกได้ว่าเธอเป็นมากกว่านักแสดง แต่เป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์คนใหม่ของวงการเลยทีเดียว ส่วนอีกบทที่เด่นไม่แพ้กันคือบทราตรีของ อ้อม พิยดา ก็ทำออกมาได้ดีทั้งการสวมบุคลิกปากร้ายใจดีแบบแม่เล้า ส่วนในพาร์ตดราม่าก็ถือว่าทำถึง

 

แต่จุดอ่อนก็คืองานด้านเสียงที่บางครั้งเสียงดนตรีประกอบดังกว่าเสียงพูดของตัวละคร และดนตรีประกอบบางจังหวะก็ใช้เสียงลีดกีตาร์เข้าไปซึ่งไม่เข้ากับเนื้อเรื่องเอาเสียเลย ในส่วนของเพลงสมัยใหม่ที่ใช้ในเรื่องนั้นพอเข้าใจได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ใส่ความแฟนตาซีเพื่อเพิ่มอรรถรส นอกจากนี้การใช้เสียงของนักแสดงในซีนอารมณ์หลายๆ ฉากก็ยังควบคุมไม่ได้จนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

 

บางกอกคณิกา

 

และอีกหนึ่งจุดบอดใหญ่ๆ คือการเซ็นเซอร์คำว่ากะหรี่ ทั้งๆ ที่เนื้อหาว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิ์ของกะหรี่ ซึ่งในยุคนี้ทางผู้จัดค่อนข้างอิสระโดยมีหน่วยงานรัฐควบคุมแบบหลวมๆ แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการกำหนดเรตของละครที่ต้องการให้อยู่ในช่วง ‘น 13’ คือรายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้ออกอากาศช่วง 20.30 น. แม้จะมีเวอร์ชัน Uncut ให้ได้ดูกันผ่านแอปพลิเคชัน oneD แต่ก็รู้สึกขัดใจอยู่ดี เพราะเหมือนกะหรี่ก็ยังคงไร้ตัวตนแม้จะห่างจากเนื้อหาในเรื่องมา 100 กว่าปีแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม หากตัดจุดขัดใจเล็กๆ น้อยๆ ออกไป บางกอกคณิกา ก็ถือว่าเปิดตัวได้สมศักดิ์ศรีโปรเจกต์ oneD ORIGINAL จนอยากดูซีรีส์เรื่องต่อๆ ไปในโปรเจกต์นี้เร็วๆ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X