ข้อมูลจากรายงานนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ภาพรวมต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ในเดือนมิถุนายนยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ย MRR กลับมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
จากการตรวจสอบของทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พบว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ MRR จาก 5.75% เป็น 5.95% โดยเป็นธนาคารเดียวที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว แต่ในภาพรวมยังถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
สำหรับอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ทั้ง 6 แห่งในปัจจุบันอยู่ที่
- ธนาคารกรุงเทพ 5.950%
- ธนาคารกสิกรไทย 5.970%
- ธนาคารไทยพาณิชย์ 5.995%
- ธนาคารกรุงไทย 6.220%
- ธนาคารกรุงศรี 6.050%
- ธนาคารทหารไทยธนชาต 6.280%
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งวิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ก่อนหน้านี้ดอกเบี้ย MRR ของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งแม้จะปรับขึ้นมาแล้วก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งอยู่ดี
อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่ธนาคารพยายามรักษาระดับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมด้วย
“NIM ของธนาคารกรุงเทพในไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.01% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งอยู่ที่ 2.81% จะเห็นว่าค่อนข้าง Underperform นอกจากนี้ หากดูธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นๆ จะพบว่า NIM มีการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ NIM ปรับลดลงจาก 2.07% ในไตรมาสแรก” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวระบุอีกว่า หากดูภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 2 จะพบว่าแรงขับเคลื่อนส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อรายย่อยที่โต 5.8% ซึ่งเมื่อดูลึกลงไปในกลุ่มรายย่อยอีกจะพบว่าสินเชื่อบ้านมีการเติบโตถึง 6.9%
“เมื่อพอร์ตสินเชื่อบ้านโตขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR พร้อมกับลดดอกเบี้ยขาเงินฝาก ซึ่งเราพบว่าธนาคารกรุงเทพมีการปรับลดดอกเบี้ยกลุ่มเงินฝากพิเศษลงด้วยเช่นกัน อาจช่วยประคอง NIM ได้ส่วนหนึ่ง” แหล่งข่าวกล่าว
ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ดอกเบี้ย MRR ของธนาคารกรุงเทพก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารขนาดใหญ่เจ้าอื่น ขณะเดียวกัน สินเชื่อบ้านและสินเชื่อ SMEs ก็มีสัดส่วนไม่มากนักในพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร จึงเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลช่วยให้ NIM ของธนาคารปรับดีขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/64 โดยพบว่ามีกำไรสุทธิ 6,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,262 ล้านบาท หรือคิดเป็น 105.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,094 ล้านบาท แต่มีกำไรสุทธิลดลง -566 ล้านบาท หรือคิดเป็น -8.17% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,923 ล้านบาท
ขณะที่กำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,515 ล้านบาท คิดเป็น 23.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4.8% โดยเป็นผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.12% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในครึ่งแรกของปีก่อน ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 18.8% จากค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์