วันนี้ (30 สิงหาคม) บริเวณใต้สะพานตากสิน พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการการทหารบก พร้อมด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และเจ้าหน้าที่ทหารในการจัดเตรียมกระสอบทรายสำหรับวางตามแนวเฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ
ภายหลังตรวจเยี่ยมจุดปฏิบัติงาน พล.อ. ณรงค์พันธ์ได้กล่าวว่า วันนี้เป็นการมาช่วยเหลือกันเพื่อให้ประชาชนได้รับความอุ่นใจ ทางกองทัพบกนำกำลังพลมาสนับสนุน กทม. เต็มที่ เพราะต้องยอมรับว่างานรับผิดชอบของ กทม. เองมีจำนวนมาก ฉะนั้นงานหนักที่ต้องใช้พละกำลังก็ขอให้เป็นหน้าที่ของทหาร
ทั้งนี้ได้พูดคุยกับทางผู้ว่าฯ กทม. ว่าเจ้าหน้าที่ทหารทุกคนเต็มใจมาช่วยเหลือ การได้มาช่วยเหลือประชาชนเหมือนกับได้ช่วยเหลือคนในครอบครัวพี่น้องของตัวเอง เพราะทุกคนคือคนไทยเหมือนกัน จากนี้ถ้า กทม. มีข้อมูลว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง เจ้าหน้าที่ทหารก็พร้อมจะส่งกำลังมาช่วยเหลืออย่างเต็มขีดความสามารถ
เบื้องต้นในการสนับสนุนงานของ กทม. มีการแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจนตามเขต โดยฝั่งธนบุรีจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารเรือ, กรุงเทพฯ ตอนเหนือ ดอนเมืองจะเป็นทหารอากาศ ส่วนกลางจะเป็นกองทัพบกที่มีหลายหน่วยงานย่อยร่วมด้วย นอกจากงานป้องกันบรรเทาอุทกภัยแล้วยังมีในส่วนของการขุดลอกคูคลอง งานเตรียมการป้องกันในชุมชน และแผนฟื้นฟู
ด้านชัชชาติกล่าวว่า หน่วยปฏิบัติงานทั้งสองฝ่ายมีการประสานงานมาโดยตลอด ทางทหารและ กทม. ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่การแก้ปัญหาคลองลาดพร้าว กทม. เองก็อุ่นใจที่มีหลายหน่วยงานมาช่วยเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งวันนี้ได้รับทราบว่าจะมีการบรรจุกระสอบทรายเพิ่มอีก 20,000 ใบที่บริเวณดังกล่าว
สำหรับ กทม. ต้องยอมรับว่ามีแต่พนักงานกวาด การได้เจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยก็จะทำงานได้เร็วขึ้น จากนี้ต้องมีการร่วมงานกันอีกหลายมิติ เช่น การจัดเก็บขยะ การขุดลอกคูคลอง กทม. ก็จะประสานงานอย่างต่อเนื่อง ความจริงแล้วทหารทำมาหลายเรื่องตั้งแต่การดูแลชุมชนริมคลอง
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า เมื่อช่วงเช้าที่พบกับ ผบ.ทบ. ไม่ได้มีการพูดคุยอะไรเป็นพิเศษ ท่าน ผบ.ทบ. เพียงเล่าให้ฟังว่าอยู่ที่เขตคลองสาน ริมแม่น้ำ และเพราะใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นก็เลยเข้าใจประชาชนที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดบ่อย
ด้าน อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ในภาพรวม กทม. ปัญหาน้ำท่วม น้ำเหนือ ถือว่ายังไม่น่ากังวล ปริมาณน้ำเหนือที่เข้ามา กทม. 1,600 ลูกบาศก์เมตรไม่ได้เป็นสิ่งที่วิตก สิ่งที่วิตกคือในเดือนหน้าตามพยากรณ์อากาศ ถ้าต้องเจอกับพายุอีก 2 ลูกจะต้องพิจารณาแผนอีกครั้ง แต่ความพร้อมเต็มที่อยู่แล้วทั้งในส่วนของการพร่องน้ำ ปัจจุบันจะสังเกตได้ว่าน้ำในคลองหลายจุดลดลงมาก เป็นไปตามแผนการระบายน้ำ ซึ่งปีนี้เป็นแผนใหม่ที่ตั้งใจทำให้น้ำต่ำกว่าระดับมาตรฐาน สิ่งนี้ทำให้เวลาฝนตกหนักน้ำสามารถระบายลงในคลองได้
สำหรับกระสอบทรายเหล่านี้ที่ถูกบรรจุจะนำไปกระจายในแต่ละเขตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในชุมชนซึ่งแต่ละปีต้องเรียงกระสอบทราย 50 เขตประมาณ 1,600,000 ใบ และบริเวณน้ำทะเลหนุนอีกกว่า 100,000 ใบ แต่เนื่องจากบทเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 จึงต้องทำเพิ่มอีก 20,000 ใบเพื่อป้องกัน
อรรถเศรษฐ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน กทม. มีจุดฟันหลอ 76 จุด มีส่วนผสมกันระหว่างของเอกชนและของหลวง ขณะนี้ได้งบประมาณที่จะสามารถทำเป็นเขื่อนถาวรได้ 13 จุด จากทั้งหมดที่ต้องทำ 24 จุด ในแผนระยะยาวมีหลายโครงการที่จะต้องทำ เรียกว่าจะต้องมีการปฏิวัติการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ใหม่หลายโครงการ ทั้งในส่วนของนวัตกรรมใหม่และสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น อุโมงค์ยักษ์ที่ปัจจุบันทำงาน 100%