วานนี้ (2 สิงหาคม) ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองฯ ผู้ว่า กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 28/2565 โดยมีคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล
ในที่ประชุมได้แจ้งให้ทราบถึงประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) คำสั่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่ 7/2565 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13)
และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 15) ซึ่งอาจจะมีผลในการกำกับควบคุมการชุมนุมที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุญาต หากเป็นการชุมนุมในสถานที่ 7 แห่ง ตามประกาศ กทม. เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ยังสามารถดำเนินกิจกรรมได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ
ในส่วนของสำนักอนามัย ได้รายงานข้อมูลผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของกลุ่มเป้าหมายหลักในกลุ่ม 608 พบว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 70% ทวิดาจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สาเหตุที่ประชาชนไม่ประสงค์ฉีดวัคซีน เพื่อวางแผนในการดำเนินการเชิงรุก กระตุ้นและเชิญชวนให้ประชาชนรับวัคซีนป้องกันโควิดให้มากที่สุด เพื่อลดอาการรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต
ด้านการสอบสวนผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง รายที่ 2 ของประเทศไทย ในพื้นที่เขตบางพลัด กทม. ซึ่งเป็นผู้ป่วยเพศชาย สัญชาติไทย อายุ 47 ปี ผลการสอบสวนโรคผู้สัมผัสใกล้ชิดร่วมบ้านทั้งสิ้นจำนวน 17 ราย โดยแยกเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 14 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 3 ราย ผู้สัมผัสใกล้ชิด (ชาวต่างชาติ) 2 ราย ผู้สัมผัสในสถานศึกษา 5 ราย ทั้งนี้ จากการติดตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของผู้สัมผัสในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิด จำนวน 17 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสฝีดาษลิง
สำหรับการเตรียมรับมือโรคฝีดาษลิง ได้ให้ความรู้แก่บุคลากรทางด้านสาธารณสุขเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก โรงพยาบาล หากพบผู้ป่วยสงสัยให้แจ้งไปที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย พร้อมทั้งประสานนายกสมาคมโรงแรมไทย เพื่อแจ้งโรงแรมทุกแห่งใน กทม. หากพบผู้ป่วยสงสัยให้รายงานไปที่สำนักงานเขตและ/หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่
ในส่วนของแผนงานที่จะดำเนินการต่อไป ดังนี้
- ประสานร้านขายยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเฝ้าระวัง
- ประสานงานกับเครือข่ายหลากหลายทางเพศเพื่อให้ความรู้และร่วมเฝ้าระวัง
- จัดประชุมถอดบทเรียนการรับมือโรคฝีดาษลิงในสถานพยาบาล ในวันที่ 3 สิงหาคม และ
- สื่อสารประชาสัมพันธ์ด้านองค์ความรู้และสื่อสารประชาชนให้เข้าใจเกี่ยวกับการสังเกตอาการและการป้องกันโรค
ทวิดายังได้กำชับให้สำนักงานเขต สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ และเฝ้าระวังหากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ให้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขโดยเร็ว โดยปฏิบัติตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคฝีดาษลิง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่าย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) อย่างเข้มข้น โดยล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่รู้จัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิง