วันนี้ (1 พฤษภาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เข้าพบ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะทำงาน เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
พริษฐ์กล่าวว่า แม้ชาวกรุงเทพฯ จะสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้โดยตรง แต่ปัญหาจำนวนมากที่ประชาชนเผชิญ เช่น การกำกับดูแลระบบขนส่งสาธารณะ, การควบคุมสัญญาณไฟจราจร, การแก้ปัญหารถควันดำ (PM2.5), หรือการดูแลสายไฟฟ้าและท่อประปา กลับเป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังไม่มีอำนาจเต็มที่ในการแก้ไขภายใต้ พ.ร.บ. ปัจจุบัน
คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นความสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ทันสมัยและตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ มากขึ้น โดยได้ดำเนินการศึกษาและหารือกับ กทม. มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 ผ่านการประชุม การจัดเสวนา การตั้งอนุกรรมาธิการ และเวทีรับฟังความเห็น ซึ่ง กทม. เองก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มรับฟังความเห็นเกี่ยวกับข้อจำกัดของ พ.ร.บ. นี้ด้วยเช่นกัน (https://2528.bangkok.go.th)
สำหรับข้อเสนอเบื้องต้น 10 ข้อ ที่คณะกรรมาธิการฯ จัดทำขึ้น แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่:
- ‘ปลดล็อก’ กทม. ให้แก้ปัญหาประชาชน: เพิ่มอำนาจ กทม. ในการจัดทำบริการสาธารณะ (อาจใช้แนวทาง Negative List), เพิ่มความเป็นอิสระจากส่วนกลาง (เช่น ลดอำนาจยุบสภา กทม./ปลดผู้ว่าฯ), เพิ่มอำนาจด้านการคลัง (เก็บค่าธรรมเนียม/ภาษี, ออกพันธบัตร, ตั้งบริษัท/วิสาหกิจ, ร่วมมือเอกชน) และกำหนดให้การถ่ายโอนภารกิจต้องมาพร้อมงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ
- ‘ปรับ’ กทม. ให้ใกล้ชิดประชาชน: ปรับโครงสร้างเป็นท้องถิ่น 2 ชั้น (ผู้ว่าฯ/สก. และ นายกเขต/สข. ที่มาจากการเลือกตั้ง), จัดการเลือกตั้งทุกระดับพร้อมกันทุก 4 ปี (อาจให้ระบุรองฯ ล่วงหน้า) และออกแบบระบบเลือกตั้ง สก./สข. ให้ครอบคลุมและหลากหลาย
- ‘ปิด’ กทม. ให้ประชาชนมาร่วมขับเคลื่อน: ปรับปรุงการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย/ถอดถอน (ให้ทำออนไลน์ได้, เพิ่มการเสนอญัตติอภิปราย/ประชามติ), กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก (Open Data) และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดซื้อจัดจ้าง, ยกระดับงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ให้กว้างขึ้น หลายระดับขึ้น และคล่องตัวขึ้น
พริษฐ์กล่าวว่า หลังจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำความเห็นที่ได้รับจาก กทม. มาประมวลผลและจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อให้ สส. ใช้เป็นข้อมูลในการยกร่างกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกัน ทราบว่า กทม. ก็มีแผนจะจัดทำร่างของตนเองให้เสร็จใน 3-4 เดือนข้างหน้าเพื่อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล
พริษฐ์มองว่า แม้ร่างที่ สส. เสนออาจใช้เวลานานในกระบวนการของสภาฯ แต่หากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยทำงานร่วมกับ กทม. เพื่อเสนอร่างของ ครม. โดยเร็ว ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น พ.ร.บ.กรุงเทพฯ ฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งถัดไป