×

กทม. ถอดบทเรียน 2 อุบัติเหตุจากงานก่อสร้างบนถนน เล็งเพิ่มเวลาทำงานเสาร์-อาทิตย์ หวังจบแต่ละโครงการให้เร็วขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2023
  • LOADING...
กทม. อุบัติเหตุ

วานนี้ (9 พฤศจิกายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมการแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างบนผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบนผิวจราจร ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การประปานครหลวง, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม

 

วิศณุกล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเหตุแรกเป็นของสำนักการระบายน้ำ ซึ่งฝาบ่อหัก ส่วนเหตุที่สองเป็นของการไฟฟ้านครหลวง ฝาบ่อแข็งแรงดี แต่โครงสร้างของฝาบ่อทรุดไป ซึ่งคาดว่าเกิดจากน้ำหนักรถบรรทุกที่มากเกิน

 

ฉะนั้นในที่ประชุมได้หารือร่วมกันในเรื่องของมาตรการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก โดยขอความร่วมมือทุกหน่วยงานใช้วิธีการสังเกตในเบื้องต้น ดังนี้ 

 

“รถเปล่า 1 คัน จะมีน้ำหนักประมาณ 10-11 ตัน ตามกฎหมายรถบรรทุกจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 25 ตัน ดังนั้นรถจะสามารถบรรทุกได้อีกประมาณ 14-15 ตัน 

 

“ในส่วนของดิน โดยทั่วไปแล้วจำนวนดิน 1 คิวบิกเมตร (คิว) หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะหนักประมาณ 1.5 ตัน รถบรรทุกจะต้องบรรทุกดินไม่เกิน 10 ลบ.ม. จึงจะไม่เกิน 15 ตัน 

 

“ดังนั้นเมื่อสังเกตจากขนาดของกระบะรถบรรทุกแล้ว ดินที่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของกระบะจะไม่เกินน้ำหนักตามที่กฎหมายกำหนด” วิศณุกล่าว

 

วิศณุกล่าวต่อว่า เรื่องที่สองที่ได้หารือคือเรื่องของโครงสร้างชั่วคราว ซึ่งโดยปกติได้ออกแบบให้รองรับน้ำหนักรถบรรทุกปกติที่บวก Safety Factor และ Impact Factor แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถรองรับน้ำหนักของรถบรรทุกที่บรรทุกเกินเยอะๆ ได้ จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูว่าเราจะสามารถยกระดับโครงสร้างชั่วคราวให้มีความแข็งแรงคงทนมากขึ้นได้อย่างไร โดยไปตรวจสอบและปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ การบรรทุกน้ำหนักเกินอาจไม่ได้ทำให้เกิดการถล่มในทันที แต่ทำให้อายุการใช้งานถนนหรือสะพานสั้นลง ฉะนั้นต้องควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อยืดอายุการใช้งานของถนนหรือสะพานให้สามารถใช้งานได้ตามอายุการใช้งานที่ได้ออกแบบไว้ 

 

เรื่องที่สามในการหารือคือการคืนสภาพผิวจราจรให้เรียบขึ้น โดยทางการไฟฟ้านครหลวงได้ปรับฝาบ่อให้เรียบกับพื้นถนน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วหลายพื้นที่ 

 

และเรื่องสุดท้าย จากกรณีที่เคยเกิดเหตุดินทรุดตัวในบางจุด จะสังเกตได้ว่าส่วนที่ยุบจะเป็นบริเวณหน้าบ่อที่มีการดันท่อ จึงได้หารือถึงวิธีการป้องกันคือปรับกระบวนการก่อสร้างให้รัดกุมขึ้น แต่อีกปัญหาหนึ่งคือการดำเนินการดันท่อมักจะไม่จบภายในคืนเดียว เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อคืน 

 

เพราะตามปกติจะมีการก่อสร้างในเวลา 22.00-05.00 น. เท่านั้น เมื่อเข้าพื้นที่ไปเตรียมสถานที่จะได้เริ่มงานจริงๆ ในเวลาประมาณเที่ยงคืน และเมื่อถึงเวลาประมาณ 04.00 น. ก็จะต้องเร่งคืนพื้นที่แล้ว จึงมีการคุยกันว่า กทม. จะเพิ่มเวลาการก่อสร้างบ่อบนถนนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยทางการไฟฟ้านครหลวงและผู้รับจ้างจะต้องไปคุยกับทางตำรวจด้วย เนื่องจากเป็นผู้ดูแลในเรื่องของการจราจร 

 

วิศณุกล่าวต่อว่า กทม. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสั่งห้ามรถบรรทุกวิ่งผ่านจุดที่มีฝาบ่อของสำนักการระบายน้ำ เช่น บริเวณถนนศรีอยุธยา สถานีตำรวจนครบาล (สน.) พญาไท ราชปรารภ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุถนนทรุดอีก และเพื่อปรับฝาบ่อให้แข็งแรงมากขึ้น รวมถึงจะห้ามรถบรรทุกขึ้นสะพานข้ามแยกที่มีอายุการใช้งานมานาน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุและเป็นการยืดอายุการใช้งานของสะพานด้วย

 

ด้าน ฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ในวันนี้ทาง กฟน. ได้เรียกประชุมหน่วยงานรับจ้างรับทราบข้อสั่งการ โดยได้สั่งการให้เร่งปรับปรุงฝาบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อลดจำนวนฝาบ่อและลดรอยต่อระหว่างฝาบ่อ พร้อมให้เพิ่มความแข็งแรง ทนทาน และจะต้องมีความเรียบเสมอกับผิวการจราจร เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ กฟน. ได้ดำเนินการปรับปรุงฝาบ่อมาตั้งแต่ปี 2565 และจากนี้จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในต้นปีหน้าหรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2567

 

สำหรับปัจจุบันมีโครงการบ่อพักสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ รวม 617 บ่อพัก ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่เคยประสบปัญหา เนื่องจากมีรายละเอียดทางวิศวกรรมที่ถูกต้องและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ บ่อที่เกิดเหตุเป็นบ่อแบบ Type O ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด และสามารถรับน้ำหนักได้เกิน 28 ตัน โดยจากการเปิดหน้างานในระยะที่ผ่านมาไม่เคยเกิดปัญหาอะไร ยืนยันว่าทางผู้รับจ้างได้ออกแบบให้รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่า 28 ตันอย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจของประชาชน กฟน. จะพิจารณาในการเสริมโครงสร้างความแข็งแรงเพิ่มเติมในทุกโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงโครงการในอนาคตด้วย เช่น การปรับรูปแบบคานใช้ระบบคานคู่ หรือการเพิ่มขนาดของเหล็ก โดยการออกแบบเสริมความแข็งแรงเพิ่มเติมนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสมของบ่อแต่ละ Type ซึ่งโครงการของ กฟน. มีบ่อทั้งหมด 4 Type ได้แก่ Type A, Type L, Type T และ Type O

 

ฐิติวุฒิกล่าวต่อว่า ขอขอบคุณ กทม. ที่เข้าใจการก่อสร้างของ กฟน. เชื่อว่าถ้ามีโอกาสได้ทำงานในช่วงวันหยุดจะทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วขึ้น และประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยลง อย่างไรก็ตาม ต้องขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบด้วยว่าต่อไปเราจะขอทำงานในช่วงวันหยุดด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X