‘อ่านออกเสียง’ คือชื่อธีมของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (17-28 ตุลาคม 2561) ซึ่งเป็นธีมงานที่สร้างสรรค์สอดรับกับกิจกรรมเสวนาของงานที่ชื่อว่า ‘เสียงที่ไม่(เคย)ได้ยิน’ เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกแวดวง มีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวและความคิดของตนเอง
แต่หนังสือในงานกว่า 1,000,000 เล่ม จาก 376 สำนักพิมพ์ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ยังมีอีกเสียงหนึ่งที่สัมพันธ์กับงานโดยตรงแต่เราแทบไม่เคยได้ยิน เสียงนั้นคือ ‘หนังสือเสียง’
หนังสือเสียง คืออะไร?
หนังสือเสียง หรือ Audiobook คือสื่อที่บันทึกจากหนังสือแบบเรียนหรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่นำมาอ่านและบันทึกเสียงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาหรือผู้ที่บกพร่องด้านการอ่าน และผู้ต้องการรับรู้เนื้อหาของหนังสือผ่านทางการฟัง ได้มีโอกาสรับรู้ข่าวสารข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น
หนังสือเสียงที่คนทั่วไปรู้จัก มักผลิตออกมาในรูปแบบเทปคาสเซตต์–แผ่นซีดี หรือ MP3
แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเป็น หนังสือเสียงระบบเดซี (DAISY-Digital Accessible Information System) ผู้ฟังสามารถเปิดฟังหน้าใดส่วนใดก็ได้ตามที่ต้องการเหมือนอ่านหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ปกติ หนังสือเสียงในระบบนี้จะสามารถใส่ดัชนีไว้ในเนื้อหาส่วนต่างๆ ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นชนิดพิเศษค้นหาเนื้อหาส่วนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในแต่ละบท หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ย่อหน้า บรรทัด หรือแม้แต่ถ้อยคำ
โลกของคนตาบอด เสียงที่อยากบอกคนทั่วไป
ปี 2561 มีผู้พิการทางสายตาที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานมีจำนวน 195,646 คน ขณะที่ ‘ต่อพงศ์ เสลานนท์’ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอุบัติการณ์มีคนตาบอดเพิ่มขึ้น 2,000 คนต่อเดือน สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุและการเสื่อมสภาพของร่างกาย
แต่คนตาบอดไม่ใช่ภาระของสังคม พวกเขาพิการแค่สายตา ไม่ได้พิการในการใช้ชีวิต
พวกเขาไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการสิทธิที่เท่าเทียมกับคนปกติ และโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ต่างๆ แต่ดูเหมือนความต้องการของพวกเขายังไม่เข้าใกล้ความจริง
ในจำนวนคนตาบอดเกือบ 200,000 คนทั่วประเทศ มีหนังสือเสียงให้พวกเขาเข้าถึงไม่มากนัก (หลักพันเล่ม) ด้วยเพราะคนทั่วไปยังไม่รู้ว่าเสียงของเราสามารถเปลี่ยนเป็นแสงให้คนตาบอดเข้าถึงข้อมูลความรู้
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนเสียงให้เป็นแสงแห่งโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ผ่านหนังสือเสียง ชวนบุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมกันอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟังผ่านการผลิตหนังสือเสียง ซึ่งมีทั้งแบบที่ทำได้ง่ายๆ ไปจนถึงแบบที่ใช้โปรแกรมที่มีความซับซ้อนขึ้นมาหน่อย
เริ่มจากแบบง่าย คือโครงการอ่านหนังสือให้คนตาบอดผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟน Read For The Blind (RFB) เพื่อให้คุณได้อ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง สร้างหนังสือเสียงง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง ผ่านสมาร์ทโฟน ได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกสถานที่ และเป็นการเพิ่มจำนวนหนังสือเสียงให้คนตาบอดได้มากขึ้น โดยสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ส่วนแบบที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้น เป็นการใช้โปรแกรมโอบิ (Obi) สำหรับสร้างหนังสือเสียงระบบเดซี ซึ่งสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้อย่างเสรี แจกจ่ายให้อาสาสมัครนำไปใช้สร้างหนังสือเสียงให้คนตาบอดได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งสามารถเรียนรู้และขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิคนตาบอดไทย หรือที่เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/daisyth.team
บางจากฯ ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเชิญชวนเปลี่ยนเสียงของเราให้เป็นแสงของเขา โดยการอ่านออกเสียงถึงผู้พิการทางสายตาผ่านหนังสือเสียง เพื่อเพิ่มจำนวนสื่อฯ ของพวกเขา เปิดจินตนาการและมุมมองการเรียนรู้ให้เหล่าผู้พิการทางสายตาได้มองเห็นโลกไม่ต่างจากเรา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: